ติดฟิล์มลามิน่า บูสต์ชีวิตให้เป็น 1 กับโลกดิจิทัล - Boost Up your Life

อยากซื้อรถ EV ต้องเข้าใจ “แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” กันก่อน

SHARE

 
เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า  (Electronic Vehicle : EV)  ใช้กำลังไฟในการวิ่งแบบ 100% เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า คงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก “แบตรถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นขุมพลังในการจ่ายไฟให้ระบบการขับขี่ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถทำงานและวิ่งต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด
แต่สิ่งที่หลาย ๆ ท่านอาจสะดุด ในการลังเลว่าจะใช้รถ EV ดีหรือไม่? หรือจะกลับไปเลือกรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบเดิมดี?  ก็คงจะเป็นเพราะความสงสัยในเรื่องแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า EV นี่แหละครับ เพราะบางท่านอาจเคยได้ยินหรือได้เห็นกระแสข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่จากช่องทางต่าง ๆ
วันนี้ Lamina Films เลยอยากจะขอพาทุกท่าน ไปทำความเข้าใจกับแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อจะได้ตัดสินใจซื้อรถ EV ได้อย่างคุ้มค่า ตรงใจคุณที่สุดครับ
 
อยากเลือกอ่านบางเนื้อหาที่สนใจ กดที่หัวข้อได้เลยครับ
 
 

แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีกี่ประเภท

แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีกี่ประเภท

แบตเตอรี่ที่ใช้กับรถไฟฟ้า ไม่ใช่ว่าแบตฯ ทุกชนิดในท้องตลาดจะนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิดมีคุณสมบัติจำเพาะที่แตกต่างกัน และแน่นอนว่าแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับรถยนต์ BEV จะไม่เหมือนกับแบตเตอรี่ในรถยนต์เครื่องสันดาปเสียทีเดียว เรามาดูกันดีกว่าครับว่า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ที่ใช้ จะมีประเภทอะไรหรือแบบไหนบ้าง?
 

1. แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead Acid Battery)

 
Lead Acid Battery ที่ใช้ในรถ EV
ตำแหน่ง การจัดวาง Lead Acid Battery ที่ใช้ในรถ EV
ที่มา: https://www.upsbatterycenter.com/


ข้อมูลน่ารู้ของแบตเตอรี่ตะกั่วกรด
  • เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้มานับตั้งแต่ยุครถยนต์เครื่องสันดาป เพื่อใช้การจุดสตาร์ทเครื่องยนต์ จ่ายกระแสไฟให้กับระบบแอร์ วิทยุ หรือห้องโดยสาร 
  • ในยุคของรถยนต์ไฟฟ้า Lead-Acid Battery ยังคงทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าสตาร์ทมอเตอร์ขับเคลื่อน รวมไปถึงระบบ Infotainment
  • ในท้องตลาดมีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ แบตเตอรี่น้ำ แบตเตอรี่แห้ง แบตเตอรี่กึ่งแห้ง 
  • มีราคาไม่แพง มีความปลอดภัย สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ค่อนข้างสูง

ข้อจำกัดของแบตเตอรี่ตะกั่วกรด
  • อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ตะกั่วกรดถูกนำมาใช้เป็น แบตเตอรี่สำรอง ในรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น 
  • มีอายุการใช้งานสั้น และมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้สภาวะอุณหภูมิต่ำ ไม่เหมาะนำมาใช้เป็นพลังงานหลักของรถยนต์ไฟฟ้า
  • ต้องได้รับการดูแลที่ค่อนข้างจุกจิก หากนำมาใช้กับรถ EV อาจเกิดค่าใช้จ่าย Maintainance สะสมสูงในระยะยาว
 
Tesla-Model-3-Use-Lead-Acid-Battery
Lead-Acid ยังมีบทบาทสำคัญกับรถ EV ปัจจุบัน เช่น Tesla Model 3
ซึ่งติดตั้ง 12v แบตเตอรี่ตะกั่วกรด เพื่อจ่ายกระแสไฟให้ระบบ Infotainment 
ที่มา: www.motorbiscuit.com

ตัวอย่างรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด
รถยนต์ HEV, PHEV ในท้องตลาดทุกรุ่น รวมไปถึงรถ BEV บางรุ่นอย่างเช่น Tesla Model 3
 

2. แบตเตอรี่ชนิดนิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์ (Nickel-metal Hydride Battery / Ni-MH)

ข้อมูลน่ารู้ของของแบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์
  • ถูกคิดค้นในช่วงทศวรรษที่ 70 และได้รับการพัฒนาจนนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วงต้นศตวรรษที่ 20
  • รถยนต์ Hybrid (HEV หรือ PHEV) ที่ใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้า / พลังงานน้ำมัน นิยมใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้
  • มีอายุการใช้งานที่นานกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม (Li-Ion) หรือแบตตะกั่วกรด 
  • มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศได้ดีกว่าแบตเตอรี่ Li-Ion

ข้อจำกัดของแบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์
  • ราคาในการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากใช้วัสดุโลหะจำพวก ไทเทเนียม ในการผลิต
  • เมื่อเทียบที่น้ำหนักๆ เท่าๆ กัน Ni-MH เก็บพลังงานไฟฟ้าได้น้อยกว่า Li-On
  • มีอัตราการคายประจุสูง (แม้จะไม่ได้มีการใช้งาน) รวมถึงมีการปล่อยพลังงานความร้อนที่สูงด้วยเช่นกัน
 
A-Car-Using-Nickel-metal Hydride Battery
หนึ่งในรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์
(Toyota Prius 2004) 
ที่มา: https://www.consumerreports.org/

ตัวอย่างรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์
นิยมนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ Hybrid นับตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาครับ ตัวอย่างเช่น Toyota Corolla Hybrid, Toyota Camry Hybrid, Honda Accord Hybrid เป็นต้น
 

3. แบตเตอรี่นิเกิล-แคดเมียม (Nickel-Cadmium Battery / Ni-Cd)

ข้อมูลน่ารู้ของของแบตเตอรี่นิเกิล-แคดเมียม
  • เป็นแบตเตอรี่ที่เคยนิยมใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงศตววรษที่ 90
  • สามารถนำมาอัดไฟใช้ซ้ำได้ ส่วนใหญ่จะนำมาใช้กับโทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์ไฟฟ้า, ถ่านแบบก้อน
  • สามารถเก็บกระแสไฟฟ้าได้เยอะ มีรอบการชาร์จ (Charges Cycle) อยู่ที่ประมาณ 500 - 1,000 ครั้ง

ข้อจำกัดของแบตเตอรี่นิเกิล-แคดเมียม
  • มีปัญหาเรื่อง Memory Effect ทำให้ต้องใช้พลังงานให้หมดก่อน จึงจะสามารถชาร์จใหม่ได้
  • ปัจจุบัน Ni-Cd เป็นแบตเตอรี่ต้องห้าม เนื่องจากมีความเป็นพิษจากสารแคดเมียมรั่วไหลระหว่างขั้นตอนการผลิต
 
Cadmium Poisoning
โรคอิไตอิไต ที่มีสาเหตุมาจากการ
ได้รับสารแคดเมียมในปริมาณที่มากเกินไป
ที่มา: https://www.sciencedirect.com/
 

4. แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium Ion Battery / Li-ion)

 
Li-ion Battery ที่ใช้ในรถ EV
ตัวอย่าง การจัดวาง Li-ion Battery ที่ใช้ในรถ EV
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  www.automobil-produktion.de

ข้อมูลน่ารู้ของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
  • ถูกเริ่มพัฒนาในช่วงต้นศตวรรษที่ 90 
  • เป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV  และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิคส์ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิทัล หรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก
 
Li-ion Battery ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แบตเตอรี่ Li-ion แบบนี้ ใครเป็นช่างภาพคงคุ้นเคยกันดีครับ
 
  • เก็บประจุไฟฟ้า (Energy Density) ได้มาก มีอายุการใช้งานนานกว่า ชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว (รองรับเทคโนโลยี Fast Charge) จ่ายไฟได้เสถียรและคงที่ 
  • สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (Reuseable) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • แม้ชาร์จไม่เต็ม 100% ก็ไม่ทำให้ให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า “Memory effect” (อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ลดลง เนื่องจากการชาร์จโดยไม่รอให้แบตฯ พลังงานลดเหลือ 0% เสียก่อน ซึ่งมักเกิดกับแบตเตอรี่ประเภทนิเกิลเมทัล และนิเกิล-แคดเมียม)
  • มีรอบการชาร์จ (Charges Cycle) อยู่ที่ประมาณ 500 - 10,000 ครั้ง

ข้อจำกัดของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
  • แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น
  • อุณหภูมิของแบตเตอรี่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีอุณหภูมิต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป
  • ช่วงอุณหภูมิที่แบตเตอรี่สามารถทำงานได้เป็นปกติจะอยู่ในช่วง 20 °C–60 °C (ยกตัวอย่างเช่น หากอุณหภูมิลดลงจาก 25 องศาเซลเซียส เหลือเพียง -15 องศาเซลเซียส ความจุกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่อาจลดลงได้ถึง 23%)
  • มีโอกาสลุกไหม้ หรือระเบิดได้หากอุณหภูมิสูงเกิน 500°C (เนื่องจากแบตเตอรี่ได้รับความเสียหายจนเกิดความร้อนสะสม (เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Thermal Runaway) อย่างไรก็ตามผู้ผลิตรถยนต์จะติดตั้งระบบหล่อเย็น (Liquid Cooling) ช่วยลดความร้อนอยู่แล้วครับ
 
A-Car-Using-Lithium-ion Battery
Porsche Taycan รถยนต์ไฟฟ้า Super Car
ที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 
ที่มา: https://www.porsche.com/

ตัวอย่างรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
ปัจจุบัน รถ EV นิยมใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้ ตัวอย่างเช่น รถเกือบทุกรุ่นของ TESLA, ORA Good Cat, Toyota bZ4X, Nissan Leaf, MG ZS EV, MG EP, Hyundai IONIQ 5, Mini Cooper SE, BMW i3, BMW i4, BMW iX, BMW iX3, Audi e-tron, Porsche Taycan
 

5. แบตเตอรี่ชนิดตัวเก็บประจุไฟฟ้า (Supercapacitors)

ตำแหน่งของ Supercapacitor
โครงสร้างภายในแบตเตอรี่ Li-Ion และ Supercapacitor
ที่มา:  https://cleantechnica.com

ข้อมูลน่ารู้ของ Supercapacitors
  • เป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้า  (ไม่ใช่แบตเตอรี่ซะทีเดียว) 
  • มีประสิทธิภาพการเก็บไฟฟ้าได้สูงกว่าแบตเตอรี่อิเล็กโทรไลต์แบบเหลวทั่วไป ทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน
  • ชาร์จไฟฟ้าได้เร็วกว่าแบตเตอรี่ปกติมากๆ (จากการทดสอบเร็วกว่าถึง 1,000 เท่า)
  • รอบการชาร์จ (Charges Cycle) อยู่ที่ประมาณ 100,000 - 1,000,000 ครั้ง

ข้อจำกัดของ Supercapacitors
  • จ่ายกระแสไฟฟ้าไม่เสถียร ให้กำลังไฟฟ้าลดลงเมื่อใช้ไปนานๆ
  • เก็บพลังงานไฟฟ้าค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ทั่วไปขนาดเดียวกัน
  • คายประจุเมื่อไม่ได้ใช้มากถึง 10 - 20% /วัน ไม่เหมาะกับการใช้เป็นพลังงานสำรอง
  • การผลิตค่อนข้างซับซ้อนสูง ส่งผลให้ราคาสูงตามไปด้วย
 
A-Car-Using-Supercapacitor
Lamborghini Sián FKP 37 รถยนต์ Hybrid สุดล้ำ ที่ได้นำ Supercapacitor มาเป็นตัวจ่ายพลังงาน
ที่มา: https://www.autoblog.com/

ตัวอย่างรถยนต์ที่ใช้ตัวเก็บประจุไฟฟ้า Ultracapacitors
ปัจจุบันยังไม่มีการใช้ Supercapacitor เป็นแหล่งพลังงานหลักของรถยนต์ EV แต่มักถูกนำมาใช้เป็นตัวช่วยรีดอัตราเร่งตอนออกสตาร์ท หรือตอนออกโค้งอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฮบริดระดับ Super Car หลากหลายรุ่น เช่น Lamborghini Sián FKP 37 หรือ Lamborghini Aventador เป็นต้น
 

6. แบตเตอรี่ชนิดโซลิดสเตต (Solid State Battery)

 
Solid State Battery VS Li-Ion Battery
เปรียบเทียบส่วนประกอบภายในแบตเตอรี่ Li-Ion และ Solid State
ที่มา: https://cleantechnica.com

ข้อมูลน่ารู้ของ แบตเตอรี่โซลิดสเตต
  • ถูกคิดค้นวิจัยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 90 และเริ่มกลับมาเป็นที่ฮือฮาในวงการแบตเตอรี่รถ EV อีกครั้ง หลังจากมีงานวิจัยเกี่ยวกับ Solid State Battery ในช่วงปี 2015 จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเออร์ไวน์
  • เป็นแบตเตอรี่ชนิดแข็ง เปลี่ยนอิเล็กโทรไลต์เหลวให้กลายเป็นอิเล็กโทรไลต์แข็งแทน
  • ให้ความจุและประสิทธิภาพได้ดีกว่าแบตเตอรี่ทุกชนิด (Energy Density สูงกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 10 เท่า)
  • มีโอกาสติดไฟต่ำ เนื่องจากไม่มีอิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของเหลวซึ่งเป็นส่วนที่ติดไฟได้
  • มีความเสถียรสูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น จึงทำให้การชาร์จมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (ชาร์จได้เร็วขึ้น)
  • ปัจจุบัน ได้เริ่มนำมาใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ, นาฬิกา Smart Watch เป็นต้น

ข้อจำกัดของ แบตเตอรี่โซลิดสเตต
  • การผลิตแบตเตอรี่ Solid State มีต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตแบตเตอรี่ Li-Ion ถึง 8 เท่า (ราคาอาจมีแนวโน้มลดลง หากมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้รองรับความต้องการมากขึ้นในอนาคต)
  • เนื่องจากสสารภายในเซลล์แบตฯ Solid State เป็นของแข็ง เมื่อใช้งานจริงกับรถยนต์ EV บนท้องถนน อาจเสี่ยงได้รับความเสียหาย แตก หัก จากการกระแทกได้ง่าย
  • เชื่อว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดนี้ จะพร้อมใช้งานจริงกับรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี ค.ศ. 20301
 
Sodium Ion Battery จาก CATL
Toyota เคยเปิดตัวว่าเริ่มนำแบตเตอรี่ Solid State
มาใช้ (Toyota Concept-i Ride )
ที่มา: https://www.japantimes.co.jp

ตัวอย่างรถ EV ที่ใช้แบตเตอรี่โซลิดสเตต
ปัจจุบันยังไม่ได้มีการนำแบตเตอรี่ Solid State มาใช้งานจริง แต่ก็มีค่ายรถยนต์บางแบรนด์ที่กำลังวิจัยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น Toyota หรือ BMW ที่ได้ประกาศออกมาว่าจะพร้อมทดลองใช้งานแบตเตอรี่ชนิดนี้จริงบนรถ EV ของตนภายในปี 2025
 

7. แบตเตอรี่ชนิดโซเดียม-ไอออน (Sodium Ion Battery / Na-Ion Battery)

Sodium Ion Battery จาก CATL
นวัตกรรมแบตเตอรี่ Sodium Ion จาก CATL
ที่มา: https://insideevs.com/

ข้อมูลน่ารู้ของ แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน
  • เรียกกันแบบภาษาพูดทั่วไปในอีกชื่อว่า “แบตเกลือ”
  • มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า Li-Ion Battery ถึง 3-4 เท่า เนื่องจากสามารถหาแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบได้ง่ายกว่า
  • สามารถชาร์จไฟเกือบเต็ม 100% ได้ภายในเวลาเพียง 20 นาที
  • ทนต่อสภาพอุณหภูมิร้อนสูงและหนาวจัด ได้ดีกว่า Li-Ion Battery จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องความร้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • มีอายุการใช้งาน (Cycle time) ได้นานถึง 8,000 - 10,000 ครั้ง

ข้อจำกัดของ แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน
  • ยังมี Energy Density ต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (ดูค่าเปรียบเทียบได้จากตารางข้างล่างครับ) เรียกได้ว่า เปรียบเทียบน้ำหนักของแบตเตอรี่เท่าๆ กัน แบตฯ Sodium Ion จะให้พลังงานได้น้อยกว่านั่นเอง
  • ทำให้รถที่ใช้แบตชนิดนี้ ยังวิ่งได้แค่ในระยะสั้น เพราะต้องใช้พลังงานเยอะกว่ารถ EV ที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน2
  • มีน้ำหนักมากกว่าแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน2
 
Sodium Ion Battery in BYD Seagull
ค่ายรถ BYD เริ่มนำแบตเตอรี่ Sodium Ion
ใช้ทดสอบจริงในรุ่น Seagull
ที่มา  https://insideevs.com/

ตัวอย่างรถ EV ที่ใช้แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน
ทาง BYD เริ่มเตรียมใช้แบตเกลือในปี 2023 กับรถยนต์ Mini Car รุ่น Seagull
 
รู้หรือไม่? Energy Density ของแบตเตอรี่ คืออะไร?
Energy Density หรือ ความหนาแน่นของพลังงาน คือ ความสามารถในการจ่ายพลังงานต่อน้ำหนัก โดยมีหน่วยเป็น วัตต์-ชั่วโมงต่อกิโลกรัม (Wh/kg) อธิบายคือ ด้วยมวลน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แบตเตอรี่ชนิดนั้น สามารถให้พลังงานได้กี่วัตต์ ใน 1 ชั่วโมง
 
Energy Density ของแบตเตอรี่แต่ละชนิด มีค่าเท่าไหร่บ้าง?
ชนิดของแบตเตอรี่ Energy Density
แบตเตอรี่
ตะกั่วกรด
30-50 Wh/kg
แบตเตอรี่
Nickel-metal Hydride
60-120 Wh/kg
แบตเตอรี่
Nickel-Cadmium
45-80 Wh/kg
แบตเตอรี่
Lithium Ion
50-260 Wh/kg
Supercapacitors 85-136 Wh/kg
แบตเตอรี่
Solid State
350-500 Wh/kg
แบตเตอรี่
Sodium Ion
160 Wh/kg2
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://marketeeronline.co และ https://www.renaultgroup.com
 
ทั้งหมดนี้ คือแบตเตอรี่ทั้ง 7 ประเภทที่ถูกนำมาพัฒนาและใช้งานจริงกับรถยนต์ EV ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในอนาคตอันใกล้ ลามิน่าเชื่อว่าเราจะได้เห็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ ๆ มาเพิ่มอีกแน่นอน
 
 

แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ต่างจาก แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไปยังไง?

แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ต่างจาก แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไปยังไง?

ทำไมเราถึงไม่นำแบตเตอรี่ทั่วไปมาใช้กับรถ EV? … นั่นก็เพราะด้วยข้อจำกัดหลายปัจจัย เช่น การกักเก็บประจุไฟฟ้าต่ำ, กำลังในการจ่ายไฟที่น้อยเกินไป หรือความร้อนขณะที่ใช้งานที่สูงเกินไป เป็นต้น แต่ถ้าใครอยากรู้ว่า “แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์สันดาป มีอะไรบ้าง?” Lamina Films มีข้อมูลมาฝากเช่นกันครับ
 

ประเภทของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์

ในปัจจุบัน แบตเตอรี่ที่เป็นที่นิยมใช้กับเครื่องยนต์สันดาป (รถยนต์ที่ใช้น้ำมันขับเคลื่อน) มี 6 ประเภท ได้แก่

1. แบตเตอรี่ตะกั่วกรด (Wet Cell / Flooded Lead Acid Battery / Conventional Battery)

มีส่วนประกอบภายใน คือ โลหะผสมระหว่างตะกั่วกับพลวง รู้จักในชื่อ ‘แบตเตอรี่แบบน้ำ’ เพราะต้องเติมน้ำกรดเพื่อเป็นตัวทำปฏิกิริยาให้แบตเกิดพลังงานไฟฟ้า จึงต้องมีการดูแลบ่อย ต้องคอยหมั่นเช็คและเติมน้ำกลั่นอยู่เสมอ

2. แบตเตอรี่แบบแห้ง (Dry Cell / Sealed Maintenance Free หรือ SMF)

แบตชนิดนี้ ไม่ต้องคอยเติมน้ำกลั่นเหมือนอย่างแบตเตอรี่แบบน้ำ (แต่ภายในไม่ได้แห้งแบบชื่อนะครับ มีน้ำกรดและการชาร์จไฟจากโรงงานมาเรียบร้อย)

3. แบตเตอรี่แบบกึ่งแห้ง (Maintenance Free หรือ MF)

คล้ายกับแบบที่ 1 และ 2 รวมกัน ก็คือ มีโครงสร้างที่คล้ายกับแบตเตอรี่แบบแห้ง แต่มีรูให้เติมน้ำกลั่นได้แบบแบตเตอรี่น้ำ เพียงแต่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นถี่เหมือนแบบที่ 1 (เติมแค่ปีละ 1-2 ครั้ง) จึงถือว่ามีการใช้งานที่ไม่ยุ่งยากมากนัก

4. แบตเตอรี่ไฮบริด (Hybrid)

พัฒนามาจากแบตเตอรี่แบบน้ำ โดยมีอัตราการระเหยของน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ต่ำมาก ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเติมน้ำกลั่นบ่อย เป็นเหมือนลูกผสมของแบตแบบที่ 1 และ 3

5. แบตเตอรี่เจล (Gel)

พัฒนามาจากแบตเตอรี่แบบน้ำเช่นกัน สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ดีกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปถึง 20% และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า

6. แบตเตอรี่ AGM (Absorbent Glass Mat Battery)

เป็นแบตเตอรี่ชนิดแผ่นใยแก้วดูดซับ มีการเติมน้ำกรดและอัดประจุไฟมาจากโรงงานผลิตเรียบร้อย ถือว่าเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบัน มีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดที่ 1-6
 
 

แบตรถไฟฟ้า ใช้ได้กี่ปี?

แบตรถไฟฟ้า ใช้ได้กี่ปี?

เหตุผลอันดับต้น ๆ ที่หลายคนเลือกใช้รถ EV นั่นก็เพราะ “ความคุ้มค่า” เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก จากหลายพันบาทเหลือเพียงหลักร้อยได้เลยครับ (เมื่อเทียบค่าชาร์จไฟฟ้าเต็ม 100% กับการเติมน้ำมันเบนซิน - ดีเซลเต็มถังแบบเดิม ซึ่งในการชาร์จต่อครั้งจะเสียค่าไฟแค่ครั้งละประมาณ 90-150 บาท เฉลี่ยแล้วจะตกเพียง 0.60-1 บาท ต่อกิโลเมตรเท่านั้น)
แต่ทั้งนี้ ลามิน่าก็เชื่อว่ามีหลายท่านที่ลังเลในการตัดสินใจย้ายค่าย จากการขับรถยนต์เครื่องสันดาปมาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพราะประเด็น HOT ของแบตเตอรี่รถ EV ที่ว่ากันว่า “เปลี่ยนแบตฯ ทีนึง แทบต้องจ่ายเกือบ 50% ของราคารถ” แถมอายุการใช้งานแบตเตอรี่เอง ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่า “รถ EV แบตเตอรี่ใช้ได้กี่ปีกัน?” เพื่อที่จะได้ข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจเพิ่มขึ้น เราลองมาดูกันต่อดีกว่าครับ
 

อายุการใช้งานแบตรถยนต์ไฟฟ้า ใช้ได้กี่ปี

โดยทั่วไปแล้ว แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (ณ ปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นแบตเตอรี่ Lithium Ion) จะค่อย ๆ มีการเสื่อมสภาพลงโดยมีปัจจัยจาก

ปัจจัยที่ 1 : อุณหภูมิ (Temperature)
 
อุณหภูมิมีผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
อุณหภูมิที่เหมาะสมกับแบต Li-Ion อยู่ที่ประมาณ 20 °C–60 °C
 
เรื่องของอุณหภูมิก็มีผลต่อคุณภาพการใช้งานของแบตเตอรี่ โดยยิ่งอุณหภูมิสูง (เกินระดับที่แบตเตอรี่สามารถทำงานได้เป็นปกติ) ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่ออายุการใช้งานแบตเตอรี่ได้ นอกจากนี้ความร้อนสะสมในแบตเตอรี่อาจทำให้แบตลุกไหม้ หรือระเบิดได้เลยล่ะครับครับ
 
รถ EV ไม่เหมาะกับประเทศไทย เพราะอากาศร้อน … จริงหรือ ?
คำตอบคือ “ไม่จริง” นะครับ เพราะตามมาตรฐานของรถ EV จะมีระบบ Liquid Cooling ช่วยระบายความร้อนติดตั้งมาให้กับรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกรุ่นอยู่แล้ว ที่จะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าให้อยู่ในช่วง 15 - 55 องศาเซลเซียส ในขณะที่สภาพของภูมิอากาศบ้านเราค่อนข้างคงที่ จึงไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานของแบตเตอรี่แต่อย่างใด 
ในทางกลับกัน ประเทศเขตหนาวต่างหาก ที่อาจทำให้แบตรถยนต์ไฟฟ้ามีปัญหา โดยเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสลงไป แบตเตอรี่จะเริ่มจ่ายกำลังไฟฟ้าได้น้อยลง ซึ่งส่งผลต่อสมรรถนะการขับขี่แน่นอนครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share และ https://blog.wallbox.com

ปัจจัยที่ 2 : รอบการใช้งาน หรือรอบการชาร์จ (Cycle time)
การชาร์จแบตเตอรี่รถ EV
การชาร์จพลังงานจาก 0-100% = 1 รอบการชาร์จ
คือ การชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม 100% ต่อครั้ง (เต็ม 100% ครั้งนึง จะเท่ากับการใช้ 1 Cycle time) ซึ่งเมื่อเราใช้ไปนาน ๆ Cycle time ยิ่งมากครั้ง แบตเตอรี่ก็จะเก็บไฟได้น้อยลงตามอายุการใช้งาน โดยเฉลี่ยแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า Lithium Ion ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานประมาณ 3,000 รอบการชาร์จขึ้นไป หรือตีเป็นอายุการใช้งานจริงคร่าวๆ ได้ตั้งแต่ 10 - 20 ปี เลยทีเดียวครับ
 
ศัพท์น่ารู้ สำหรับคนใช้รถ EV3
State of Health (SoH) = ค่าสุขภาพของแบตเตอรี่
State of Charge (SoC) = ค่าระดับการเก็บประจุของแบตเตอรี่
ซึ่งทั้งสองค่า จะแสดงในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ ยิ่งค่าเยอะ แสดงถึงคุณภาพแบตที่ยังดีเต็ม (สุขภาพแบตที่ดีต้องไม่ต่ำกว่า 80%) สามารถตรวจสอบได้โดยการนำ OBD  (On-board Diaggnostics) ใช้เป็นพอร์ตมาตรฐานสำหรับเชื่อมต่อระบบการทำงานภายในรถยนต์เข้ากับคอมพิวเตอร์ เพื่อรายงานสถานะต่าง ๆ ของรถยนต์
 
คลิปวิดีโอสาธิตการต่อ OBD Adapter เพื่อตรวจเช็คสุขภาพรถ Tesla Model Y
 

แบตรถยนต์ไฟฟ้า เสื่อม

อาการแบตเตอรี่เสื่อม เป็นอะไรที่หลาย ๆ ท่านเป็นกังวล และไม่อยากจะให้เกิดขึ้นกับรถ EV ของท่านแน่นอน ฉะนั้น เรามาดูกันดีกว่า ว่าอาการแบตรถยนต์ไฟฟ้าเสื่อมเป็นอย่างไร? เพื่อที่จะได้เข้าใจและพร้อมเตรียมรับมือ

ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าของคุณเกิดอาการแบบนี้ ต้องรีบเช็คด่วน!
  • ชาร์จเต็ม 100% แต่วิ่งระยะทางได้น้อยลง เพราะตัวเก็บประจุไฟเสื่อมคุณภาพ (เก็บไฟได้น้อยลง)
  • ชาร์จนานขึ้น เพราะความสามารถในการเก็บไฟของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าลดลง
  • ชาร์จเต็มเร็วเกินไป เพราะประสิทธิภาพความจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่เหลือน้อยลง
  • ประสิทธิภาพรถแย่ลง เพราะความสามารถในการเก็บไฟของแหล่งพลังงานลดลง
 
ระวัง แบตรถยนต์ไฟฟ้า เสื่อม
ชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV แต่ละครั้ง…ไม่จำเป็นต้องชาร์จเต็ม 100%
 

3 วิธียืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

1. หลีกเลี่ยงการจอดรถยนต์ไฟฟ้าทิ้งไว้กลางแดดจัด ๆ เนื่องจากอาจทำให้ตัวรถ (โดยเฉพาะแบตเตอรี่) มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ระบบจัดการความร้อนของรถยนต์ทำงานอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดการใช้งานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถ EV ไปเรื่อย ๆ ด้วยนั่นเอง
2. ชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม 100% เพราะทำให้แบตเตอรี่มีอุณหภูมิสูง
  • ช่วงการชาร์จแบตที่ดีที่สุด คือในช่วง 30% - 80%
  • ไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่ต่ำกว่า 20% เพราะทำให้ Cycle time หมดไว เสี่ยงต่อการที่แบตเตอรี่ชาร์จไฟไม่เข้า
3. ไม่ควรใช้การชาร์จแบบ DC บ่อยจนเกินไป เพราะถึงแม้การชาร์จแบบ DC จะช่วยให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มได้เร็วกว่าการชาร์จแบบ AC แต่เนื่องจากการชาร์จแบบ DC เป็นการอัดประจุไฟฟ้าเข้าไปจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้แบตเตอรี่เกิดความร้อนสะสมสูง ส่งผลทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้ไวมากขึ้น ดังนั้นการสลับชาร์จแบบ AC จึงเป็นการช่วยถนอมและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ได้ดียิ่งขึ้น
 
AC / DC ศัพท์น่ารู้ สำหรับคนใช้รถ EV
ด้วยความที่รถยนต์ EV มีการใช้กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานหลัก ดังนั้น เราควรรู้จักกับคำว่า AC และ DC กันสักหน่อยดีกว่าครับ
 
ไม่ใช่วงในตำนานอย่าง AC/DC นะครับผม
ที่มา: https://tenor.com/

AC หรือ Alternating Current คือ ไฟฟ้ากระแสสลับ
จะมีทิศทางการไหลของไฟฟ้ากลับไป-มา ว่าง่าย ๆ คือ ไม่มีขั้วบวกหรือขั้วลบ โดยไฟฟ้าที่เราใช้กันตามบ้าน เป็นประเภท AC นี่เองครับ ฉะนั้นการชาร์จรถ EV ด้วยไฟ AC จึงสามารถชาร์จที่บ้านได้เลย (จ่ายพร้อมบิลค่าไฟบ้านปกติเลยครับ) และรองรับรถ EV ทุกประเภทที่มีในไทย
ด้านค่าใช้จ่าย ในการชาร์จรถ EV เหมือนกับการที่เรามีแอร์เพิ่มขึ้นมา 1-2 ตัว1 ยิ่งถ้าชาร์จช่วง Off Peak (ช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าต่ำ) ค่าใช้จ่ายยิ่งประหยัดมากยิ่งขึ้น ส่วนเวลาในการชาร์จ จาก 0-100% ใช้เวลาในช่วง 6-12 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับกำลังไฟ โดยปกติจะอยู่ที่ช่วง 3-22 kWh) สามารถชาร์จนานได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนของแบตเตอรี่

DC หรือ Direct Current ก็คือ ไฟฟ้ากระแสตรง
เป็นไฟฟ้าที่มีการไหลในทิศทางเดียว คือ จากขั้วลบของแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ไหลผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วไหลกลับเข้าไปยังขั้วบวกของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอีกครั้ง ทำให้การชาร์จไฟแบบ DC จึงชาร์จได้เต็มอย่างรวดเร็ว แบตเตอรี่เพิ่มขึ้น 10-80% ได้ภายใน 30 นาที (ใช้ 210 kWh) และอย่าลืมดูเปอร์เซ็นด้วยนะครับ! ไม่ควรชาร์จเกิน 80% เพราะอาจทำให้แบตเตอรี่ร้อน และเสื่อมไวได้
การชาร์จรถ EV ด้วยไฟชนิดนี้จึงต้องเป็นสถานีชาร์จที่เป็นไฟ DC โดยเฉพาะเท่านั้น (ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังขยายจุดชาร์จรองรับมากขึ้นครับ) และในส่วยของค่าใช้จ่าย มีอัตราค่าไฟที่สูงกว่าแบบ AC ถึงประมาณ  15%
 
แบตรถยนต์ไฟฟ้า ชาร์จไฟแบบไหนดี?
เรื่อง AC/DC ลามิน่าก็มีสรุปให้เข้าใจง่ายเป็นอินโฟกราฟิกนะครับ
 
 

รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ราคาเท่าไหร่?

รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ราคาเท่าไหร่?

ปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ จะมีการรับประกันแบตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 8 ปี รับประกันระบบและอุปกรณ์อยู่ที่ 4 ปี ซึ่งคำถามต่อมาคือ “แล้วหลังจากหมดเวลารับประกันล่ะ ต้องจ่ายหนักแค่ไหน?” 
ดังนั้น เรื่องของราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่หลายคนค่อนข้างกังวล และสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า EV ราคาเป็นอย่างไร จะคิดตาม 2 ปัจจัยนี้ ได้แก่
1. ขนาดของ kilowatt-hour (kWh) ซึ่งรถแต่รุ่น ก็จะมีขนาดแบตเตอรี่รถ EV ที่ต่างกันไป ตัวอย่าง3
  • MG ZS EV 2022 มีแบตเตอรี่ขนาด 50.3 kWh
  • GWM ORA Good Cat 2022 มีแบตเตอรี่ขนาด 63.139 kWh
  • NETA V มีแบตเตอรี่ขนาด 38.54 kWh
  • NETA U มีแบตเตอรี่ขนาด 54 kWh
  • NISSAN LEAF 2022 มีแบตเตอรี่ขนาด 40 kWh
  • Volvo C40 Recharge Pure Electric มีแบตเตอรี่ขนาด 78 kWh
  • Mercedes EQS (450+) มีแบตเตอรี่ขนาด 107.8 kWh
  • BMW iX3 มีแบตเตอรี่ขนาด 80 kWh
  • Tesla Model 3 มีแบตเตอรี่ขนาด 82 kWh
  • Tesla Model Y มีแบตเตอรี่ขนาด 82 kWh
 
2. ชนิดของแบตเตอรี่ ซึ่งวัสดุที่ใช้, ประสิทธิภาพในการชาร์จ ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อราคาถูกหรือแพงด้วย โดยเฉลี่ยราคาตลาดจะอยู่ที่ช่วง 9,300 บาท – 13,950 บาท (USD300 – USD450) ต่อ kWh (ข้อมูลจาก https://www.krungsriauto.com/auto/content/OCT19-EVCar.html)
แบรนด์
รถยนต์ EV
ราคาแบตเตอรี่
(โดยประมาณ)
Tesla $10,000 - $25,000
Volvo ต่ำกว่า $48,000
BYD $24 - $1,800
ต่อ 1 Battery cell
BMW $2,500 - $20,000
Stellantis $2,500 - $20,000
VW $2,500 - $20,000
Toyota $2,500 - $45,000
Nissan $6,500 - $20,000
VW Group $5,000 - $10,000
Hyundai $2,850 - $50,000
Groupe Renault $8,090
Chery Automobile $9,000
ตัวอย่างราคาแบตเตอรี่ ณ ปัจจุบัน โดยประมาณของรถยนต์ EV
ที่มา: https://motorandwheels.com
สรุปแล้ว ราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเฉลี่ย จะอยู่ที่ราวๆ 30-57% ของราคารถยนต์ทั้งคันเลยครับ แต่ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง เราคงได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ราคาถูกลง หรืออาจมีทางเลือกในอนาคตเพิ่มเติม เช่น อาจมีแบตเทียบหรือแบตเตอรี่มือสองก็เป็นได้ (คงต้องรอให้ซัพพลายเชน อุตสาหรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีความพร้อมมากกว่านี้)
 
เทียบกันจะ ๆ ใช้อะไรถูกกว่ากัน?
ระหว่าง รถใช้น้ำมัน VS รถยนต์ไฟฟ้า
หากจะดูว่า ระหว่างรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน (รถยนต์สันดาป) และรถยนต์ไฟฟ้า ใช้รถอะไรถูกกว่ากัน? คงต้องลองเทียบกันในหลายด้านเลยล่ะครับ ทั้งในการใช้งานระยะสั้น และระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น
  • ราคาตัวรถของแต่ละแบบ (ราคาเฉลี่ยในตลาด)
  • ราคาน้ำมัน เทียบกับ ราคาการชาร์จไฟฟ้า
  • ระยะทางที่วิ่งได้ (โดยเฉลี่ย หากมีการเติมเต็มถัง/ชาร์จแบตเต็ม)
  • ความจุของถังเชื้อเพลง/แบตเตอรี่
  • ประสิทธิภาพในการใช้งาน
  • ราคาการดูแลรักษาตัวรถ
  • ราคาการขายต่อตัวรถ
ถ้าโฟกัสเฉพาะในด้านค่าใช้จ่าย ราคาของรถยนต์ไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน ยังถือว่าสูงกว่ารถยนต์สันดาปพอสมควร (เมื่อเทียบ Segment ของรถและสมรรถนะระดับใกล้เคียงกัน)
แต่หากเทียบในแง่ของค่าใช้จ่ายของการเติมพลังงานระหว่าง น้ำมัน VS ไฟฟ้า แน่นอนเลยว่าการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้เต็มต่อครั้งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการเติมน้ำมันเต็มถังเป็น 10 เท่าเลยทีเดียว4
ฉะนั้น ถ้าจะมองเรื่องความคุ้มค่า หากท่านต้องการใช้รถในระยะยาว รถ EV เองถือว่าตอบโจทย์เรื่องความคุ้มได้ทีเดียว หากต้องการดูตารางข้อมูลเปรียบเทียบเพิ่มเติม สามารถอ่านบทความจาก bangkokbiznews ได้ครับ
 
 

รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ข้อดี ข้อเสีย มีอะไรบ้าง?

รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ข้อดี ข้อเสีย มีอะไรบ้าง?

จากที่ได้เห็นข้อมูลในข้างต้นกันไปหมดแล้ว ทั้งแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีกี่ประเภท, แบตรถไฟฟ้า ใช้ได้กี่ปี, ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทีนี้มาถึงการสรุปกันครับ ว่ารถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ข้อดี ข้อเสีย จะมีอะไรบ้าง?
ข้อดี ข้อจำกัด
  • เติมไฟฟ้า ถูกกว่าการเติมน้ำมัน
  • คุ้มทุนกว่าการใช้รถยนต์สันดาป (ในกรณีที่ใช้งานระยะยาว และไม่ได้ชาร์จไฟ DC เป็นประจำ)
  • ลดการสร้างมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
  • ใช้งานรถยนต์ได้หลากหลายวัตถุประสงค์
  • ค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาน้อยกว่า (ยกเว้นค่าแบตเตอรี่)
  • แบตเตอรี่มีราคาสูง
  • จุดชาร์จรถ EV ยังมีจำกัด (โดยเฉพาะจุดชาร์จไฟ DC)
  • การชาร์จไฟ AC ใช้เวลานานตั้งแต่ 4-12 ชม.
  • ระยะทางที่ถูกจำกัดด้วยความจุของแบต
  • จำนวนอู่ซ่อมรถ EV ยังมีน้อย
  • เหมาะกับคนที่มีพื้นที่จอดรถในบ้าน (เพื่อใช้ชาร์จไฟกับ Wallbox ที่ติดตั้งไว้ในบริเวณบ้าน)
  • มูลค่ารถเมื่อขายต่ออาจลดลงมากกว่ารถสันดาปในระดับเดียวกัน
ข้อดี
  • เติมไฟฟ้า ถูกกว่าการเติมน้ำมัน
  • คุ้มทุนกว่าการใช้รถยนต์สันดาป (ในกรณีที่ใช้งานระยะยาว และไม่ได้ชาร์จไฟ DC เป็นประจำ)
  • ลดการสร้างมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
  • ใช้งานรถยนต์ได้หลากหลายวัตถุประสงค์
  • ค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาน้อยกว่า (ยกเว้นค่าแบตเตอรี่)
ข้อจำกัด
  • แบตเตอรี่มีราคาสูง
  • จุดชาร์จรถ EV ยังมีจำกัด (โดยเฉพาะจุดชาร์จไฟ DC)
  • การชาร์จไฟ AC ใช้เวลานานตั้งแต่ 4-12 ชม.
  • ระยะทางที่ถูกจำกัดด้วยความจุของแบต
  • จำนวนอู่ซ่อมรถ EV ยังมีน้อย
  • เหมาะกับคนที่มีพื้นที่จอดรถในบ้าน (เพื่อใช้ชาร์จไฟกับ Wallbox ที่ติดตั้งไว้ในบริเวณบ้าน)
  • มูลค่ารถเมื่อขายต่ออาจลดลงมากกว่ารถสันดาปในระดับเดียวกัน
 

รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ข้อดี คือ

  • ค่าพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าค่าน้ำมันมาก เนื่องจากค่าไฟฟ้ามีราคาที่ค่อนข้างคงที่ (และถูกกว่า) ในขณะที่ค่าน้ำมันมักมีการผันผวนค่อนข้างสูง
  • การใช้งานระยะยาว คุ้มทุนกว่าการใช้รถเครื่องยนต์สันดาป (เมื่อไม่ได้ชาร์จแบบ DC เป็นประจำ)
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลดการสร้างมลพิษ
  • ค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาน้อยกว่า (ยกเว้นค่าแบตเตอรี่)
 

รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ข้อเสีย (ข้อจำกัด) คือ

  • เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่ Lithium Ion ซึ่งมีต้นทุนสูง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่มีราคาสูงมาก
  • มีข้อจำกัดในการเติมพลังงาน ทั้ง จุดชาร์จรถไฟฟ้าที่อาจยังไม่ได้มีแพร่หลายในประเทศไทย และสถานีชาร์จที่มี ส่วนใหญ่ยังเป็นสถานีที่จ่ายไฟแบบ AC ทำให้ใช้เวลาเติมไฟฟ้าค่อนข้างนาน
  • ข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง ที่ถูกจำกัดด้วยความจุของแบต เนื่องจากความจุของแบตเตอรี่รถ EV ยิ่งจุได้มากก็ยิ่งมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น
  • อู่ซ่อมรถ EV ยังมีอยู่น้อยมาก ในปัจจุบัน
  • เหมาะกับคนที่มีพื้นที่จอดรถภายในบ้าน เนื่องจากต้องมีการจอดชาร์จ
  • มูลค่ารถเมื่อขายต่ออาจลดลงมากกว่ารถสันดาปในระดับเดียวกัน
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้ คุณสุดยอดมากครับ ลามิน่าเองหวังว่าบทความนี้จะสามารถเป็นตัวช่วยให้คุณได้มีข้อมูลตัดสินใจในการเลือกรถที่ใช่! ตรงใจกับสไตล์ของคุณนะครับ และถ้าหากได้ฤกษ์ถอยรถใหม่แล้ว อย่าลืมนึกถึง ฟิล์มรถยนต์คุณภาพดีจาก Lamina Films กันด้วยนะครับผม
 
ออกรถไฟฟ้าทั้งที ติดฟิล์มรถยนต์อะไรดี?
 
Energy Saving Window Films for EV Cars
ขอแนะนำ 2 รุ่นฟิล์ม Digital Boost เพื่อยานยนต์ EV ยุคใหม่
ขอแนะนำฟิล์มลามิน่ารุ่น Lamina Digital EVS และ Lamina Digital EV ฺBoost เพื่อรถอีวีทุกประเภท ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า และยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ภายในรถให้ยาวนานขึ้น เข้มสวยภายนอก วิสัยทัศน์เคลียร์ชัดภายใน ทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อมเสริมเทคโนโลยี DigitalBoost® ช่วยให้สัญญาณดิจิทัลในรถ เร็ว แรง ลื่น เสถียร เต็ม 100% ครับ
 
 

สรุป

แบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีอยู่หลายชนิด แต่แบตเตอรี่ที่กำลังครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบัน คือ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Li-Ion) โดยแบตเตอรี่ในรถ EV คิดเป็นราคาของรถประมาณ 30 - 57% ฉะนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงการทำให้แบตรถยนต์ไฟฟ้าเสื่อม ด้วยการงดจอดรถทิ้งไว้ในที่แดดร้อนจัด ชาร์จแบตที่ระดับพลังงาน 30 - 80% (ไม่จำเป็นต้องชาร์จเต็มร้อยหรือชาร์จทิ้งข้ามคืนบ่อยๆ) และก่อนตัดสินใจซื้อรถ EV ควรคำนึงถึงจุดชาร์จใกล้บ้านหรือการติดตั้ง Wallbox เพื่อความสะดวกสบายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของท่าน
 
1. อย่างไรก็ตามค่ายรถยนต์ Svolt ประกาศความสำเร็จผลิตแบทเตอรีขับไกล 1,000 กม. ด้วยแบตเตอรี่ประเภท Solid State แล้ว เร็วๆ นี้ คงได้ทดลองขับกันครับ
2. บริษัท Contemporary Amperex Technology Limited (CATL) บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำจากจีนเปิดตัวแบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน ที่มีความหนาแน่นของพลังงานสูงสุด 160Wh/kg (ปัจจุบัน) และในอนาคตเตรียมพัฒนาให้ได้มากขึ้นถึง 200Wh/kg (แต่ก็ยังน้อยกว่าแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนตัวอย่างเช่น เมื่อเทียบกับ Tesla Model 3 ที่แบตเตอรี่มีความหนาแน่นของพลังงาน 250 Wh/kg)
3. ขอขอบคุณข้อมูลจาก  https://car2day.com/price-for-charging-ev-at-home/
4. หากชาร์จแบบ DC จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการชาร์จแบบ AC ถึงประมาณ 2-3 เท่า (ยิ่งถ้าชาร์จในช่วง Peak ค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูง) จึงเป็นไปได้ที่การใช้รถพลังงานน้ำมันอาจมีอัตราค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากับรถ EV ที่ชาร์จแบบ DC