ติดฟิล์มลามิน่า บูสต์ชีวิตให้เป็น 1 กับโลกดิจิทัล - Boost Up your Life

ระบบ Infotainment ศูนย์ควบคุมความบันเทิงและความปลอดภัยในรถยนต์ยุคใหม่

SHARE
Infotainment คือ

 
ในการตัดสินใจที่จะซื้อรถยนต์สักคัน นอกจากเรื่องของราคา ปัจจัยอื่นที่หลาย ๆ ท่านใช้ในการตัดสินใจร่วมด้วยคงต้องมี การตอบโจทย์การใช้งาน, รูปลักษณ์ความสวยงามภายนอก, สมรรถนะของรถยนต์ ใช่ไหมล่ะครับ และอีกปัจจจัยที่หลายคนมองหากันมากขึ้นในยุคนี้ คือเรื่องของระบบเทคโนโลยีที่มากับรถยนต์ เพราะนอกจากความล้ำสมัยแล้ว ยังช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้งานต่าง ๆ สะดวกสบายมากขึ้น
 
เพราะการขับขี่รถยนต์ยุคดิจิทัลวันนี้
ประสบการณ์การขับขี่ สำคัญไม่แพ้จุดหมายปลายทาง
 
ระบบ Infotainment จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์รวมการควบคุมระบบต่าง ๆ ภายในรถยนต์ ทั้งฟังก์ชันการใช้งาน และการรับชมความบันเทิงระหว่างการขับขี่ ถึงจะมีข้อดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานบางท่านให้ความคิดเห็นว่า “เป็นดาบสองคม” เช่นกัน เพราะการใช้งานในบางครั้ง ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ในหลายกรณีกลับกลายเป็นความยุ่งยากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
 
สรุปแล้ว การมีระบบ Infotainment ที่ติดตั้งเข้ามาภายในรถยนต์ ช่วยให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น หรือยากขึ้นกันแน่? ก่อนที่จะตอบคำถาม ลองมาดูข้อมูลประกอบเพิ่มเติมที่บทความนี้กันก่อนดีกว่าครับ
 
เลือกอ่านแค่บางหัวข้อที่สนใจ คลิกที่สารบัญได้เลยครับ
 

In-car Infotainment คืออะไร?

Infotainment คือ อุปกรณ์ Hardware และ Software ภายในรถ ที่ควบคุมการแสดงผลของข้อมูลรถยนต์ และความบันเทิงต่างๆ (Information and Entertainment) ให้กับผู้ขับขี่ ปัจจุบันมักแสดงผลในรูปแบบหน้าจอ Dashboard ในรูปแบบจอสัมผัสที่มีข้อความ, ภาพ และเสียงหลากหลายรูปแบบ
นับตั้งแต่ยุค Tape Cassette, CD Player ปัจจุบันระบบ Infotainment ก้าวล้ำสู่รูปแบบจอสัมผัส (Touch Screen) ที่มีระบบซอฟท์แวร์ในตัวอาทิ Apple CarPlay หรือ Android Auto ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง นอกจากนี้ ระบบ Infotainment ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น  In-car Entertainment (ICE) หรือ In-vehicle Infotainment (IVI) ครับ
 

ข้อดี-ข้อจำกัด ของระบบ Infotainment

อย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นว่าระบบ Infotainment นั้นถือเป็นดาบสองคม ที่มีทั้งในแง่ของข้อดีจากความสะดวกสบายที่มอบให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร แต่ขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดที่ควรระวังในการใช้งานด้วยเช่นกัน ทั้งสองมุมมองจะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันครับ

ข้อดีของระบบ Infotainment

การขับขี่เพียงอย่างเดียว กับบรรยากาศอันเงียบเหงา อาจทำให้บางท่านรู้สึกเบื่อ และเริ่มก่อเกิดเป็นอาการง่วงนอนในระหว่างขับรถได้ จนอาจเกิดอาการ ‘หลับใน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก! การมีระบบ Infotainment เข้ามาภายในรถยนต์ จึงช่วยเติมเต็มความน่าเบื่อที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้ดีเลยทีเดียว
ถ้าไม่อยากใช้ท่านี้ในการฟื้นจากความง่วง
ลองใช้ประโยชน์จาก Infotainment ได้นะครับ
ที่มา: https://tenor.com/
นอกจากนี้ Infotainment ยังเข้ามาช่วยลดความไม่สะดวกจากการที่จะต้องหยิบจับมือถือระหว่างการขับรถได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น
  • สามารถกดรับสายได้ทันที ผ่านระบบ Handsfree

    ไม่ต้องควานหามือถือที่เก็บอยู่ในกระเป๋า หรือเกิดกรณีมือถือหล่นไปอยู่ใต้เบาะที่นั่ง ก็สามารถปล่อยทิ้งไว้ แล้วค่อยหาเมื่อถึงจุดจอดรถที่ปลอดภัยก็ได้
  • ถ้าจะกดโทรออก ก็มีตัวเลือกให้หลายวิธี

    ทั้งการกดผ่านจอ Touchscreen ขนาดใหญ่ หรือการสั่งงานผ่านระบบเสียง ซึ่งมีความสะดวกและปลอดภัยกว่าการที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อกับมือถือในระหว่างขับรถ
  • ระบบแผนที่นำทาง และพยากรณ์อากาศแบบเรียลไทม์

    แสดงเส้นทางบนหน้าจอพร้อมระบบเสียงออกลำโพง
  • เล่นเพลงโปรด ดูหนัง เป็นเพื่อนร่วมทางระหว่างขับรถ

    เชื่อมต่อกับมือถือได้สะดวกสบาย ให้การฟังเพลง หรือฟัง Content ต่าง ๆ ไม่สะดุด ต่อเนื่องกับที่ฟังจาก Smartphone
  • เชื่อมต่อความปลอดภัยของตัวรถผ่านระบบกล้องดิจิทัลที่อยู่รอบตัวรถ

    เพิ่มความสะดวกในการจอดรถให้แม่นยำ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยสรุป ระบบ Infotainment มีข้อดีหลัก ๆ คือการช่วยเพิ่มความสะดวกจากการทำหน้าที่เชื่อมต่อกับมือถือ และเป็นศูนย์รวมการควบคุมในที่เดียว ช่วยให้ปลอดภัยในการขับขี่มากยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดของระบบ Infotainment

จริงอยู่ที่ระบบ Infotainment ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านชุดคำสั่งที่รวมอยู่บนหน้าจอ Dashboard เป็นหลัก เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้รถ แต่หลังจากที่ระบบการควบคุมต่างๆ ในรถเริ่มเปลียนจากปุ่ม Analog มาเป็นปุ่ม Digital ในจอ นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีเสียงตอบรับจากผู้ใช้รถใช้ถนนในอีกมุมหนึ่งที่ต้องพึงระวัง
เพราะจากงานวิจัยที่เผยแพร่บนนิตยสารชื่อดังระดับโลกอย่าง New York Times เผยว่า “ยิ่งผู้ขับขี่ละสายตาจากการมองถนนขณะขับขี่มามองจอเพื่อกดปุ่มนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเท่านั้น”
Infotainment ในปัจจุบัน
ระบบ Infotainment ในปัจจุบัน นิยมติดตั้งจอ Touchscreen
เพื่อความสะดวก ทันสมัย แบบที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนคุ
นอกจากนี้ ปัจจุบันรถส่วนใหญ่มีระบบ Infotainment ที่มาพร้อมหน้าจอ Touchscreen ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความสวยงามก็จริง แต่ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับข้อจำกัดอย่างหนึ่งของระบบจอสัมผัส นั่นก็คือ ตำแหน่งของปุ่มบนจอ จะแสดงผลบนผิวจอเรียบๆ แถมมี User Interface (หน้าตาของจอ) เปลี่ยนไปในทุกๆ การสัมผัส ทำให้ผู้ขับขี่สร้างความคุ้นชินในการใช้งานได้ยากกว่าระบบ In-Car Infotainment แบบเดิม
ในขณะที่ปุ่มแบบ Analog แบบเดิมไม่ว่าจะเป็นปุ่มแบบคลิก ปุ่มเลื่อนสไลด์ ปุ่มสำหรับบิด / หมุนก็ตาม เราสามารถใช้การคลำ สัมผัส จดจำความแตกต่างของแต่ละปุ่มได้ง่ายและรวดเร็วกว่า จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามจากผู้ขับขี่ในปัจจุบันหลายๆ เสียงว่า สรุปแล้วระบบ In-Car Infotainment รูปแบบใหม่ ช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นจริงหรือไม่? ซึ่งย่อมเป็นโจทย์สำหรับผู้พัฒนาซอฟท์แวร์และผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องร่วมกันแก้ไขกันต่อไปครับ
Infotainment สมัยก่อน
ตัวอย่างระบบ Infotainment ในยุคก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มีหน้าจอสี
และเน้นการใช้งานผ่านปุ่มกด (การใช้งานแบบ Analog)
เทคโนโลยีความทันสมัยของระบบ Infotainment เป็นสิ่งที่ดีจริงครับ แต่ไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้ผู้ขับขี่มีสติเข้าไว้ หากต้องควบคุมระบบ Infotainment ในรถ จนทำให้เสียสมาธิจากการขับขี่ แนะนำให้หาที่จอดรถอย่างปลอดภัย แล้วจัดการทำธุระให้เรียบร้อยก่อนเดินทางต่อจะดีที่สุดครับ (ปัจจุบันเริ่มมีรถรุ่นใหม่หลายรุ่น หน้าจอทัชสกรีนจะไม่ตอบสนอง กรณีที่รถกำลังขับเคลื่อน เป็นการเพิ่มความปลอดภัยอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งลามิน่าห่วงใยอยากให้ผู้ใช้รถใส่ใจความปลอดภัยเป็นสำคัญ)
 

Gen ต่างกัน ใช้ Infotainment ยาก-ง่าย ต่างกันไหม

ส่วนหนึ่งของความคิดเห็นกับกลุ่มคนหลากหลาย Generation1 ได้ความเห็นที่น่าสนใจทีเดียวเลยครับ
  • สำหรับกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 59 ปีขึ้นไป) ส่วนมากจะไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ จึงอาจมองว่าระบบ Infotainment ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก และซับซ้อนวุานวายต่อการหยิบจับใช้งาน
  • หากเป็นกลุ่ม Gen X (อายุ 43 ปีขึ้นไป) กลุ่มนี้เป็นยุคที่ได้เห็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี จึงได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้งานในวัยที่เริ่มโตแล้ว จึงเป็นกลุ่มที่เรียนรู้การใช้งานระบบใหม่ ๆ ได้ แต่อาจจะยังไม่ได้คล่องแคล่วมากนัก
  • สำหรับกลุ่ม Gen Y (อายุ 27 ปีขึ้นไป) โตมากับการเกิดใหม่ของเทคโนโลยี จึงมีการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทัน หัดใช้ได้ไว แต่ก็ยังก้ำกึ่งกับการใช้นวัตกรรมยุคก่อนหน้าอยู่ด้วย
  • กลุ่ม Gen Z ลงไป (อายุต่ำกว่า 27 ปี) โตมาพร้อมกับเทคโนโลยียุคใหม่แล้ว การใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ อย่างระบบ Infotainment ที่ทันสมัยขึ้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายสำหรับกลุ่มนี้เลยทีเดียว
จากข้อมูลข้างต้น ถือว่าความแตกต่างของ Generation มีผลต่อความคล่องตัวในการใช้งานระบบ Infotainment ในระดับหนึ่งเลยล่ะครับ ถ้าคุณผู้อ่านมีความเห็นอย่างไร มาลองแชร์กันได้ครับ
 

ระบบ Infotainment ที่ดี ควรเป็นอย่างไร

  • ทำงานได้ดี ไว้วางใจได้!

    ระบบสามารถใช้งานได้ลื่นไหล ไม่มีสะดุด ไม่ผิดเพี้ยน และมีความคงทนในการใช้งาน (Built to last) ไม่ใช่แค่ระบบที่ทำงานได้แค่เพียง 2-3 ปี ก็มีปัญหาการใช้งานในภายหลัง
  • ใช้งานง่าย

    ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษขณะใช้งาน ควรออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างความคุ้นเคยได้ไว เหมือนกับการใช้ Smartphone ในปัจจุบัน
  • จอแสดงผลชัดเจน

    หน้าจอควรมีความละเอียดสูง ให้ความสว่างคมชัดในทุกสภาวะแสง และสามารถดูรายละเอียดข้อมูลต่างๆ บนจอได้ครบถ้วน ชัดเจนจากทุกมุมมอง รวมทั้งผิวหน้าจอแสดงผล ควรสะท้อนแสงต่ำ เพื่อลดแสงรบกวนสะท้อนเข้าสายตาขณะขับขี่
  • เชื่อมต่อได้ดีเยี่ยม

    ระบบ Infotainment ไม่ได้ทำงานด้วยตัวระบบเองเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งสมาร์ทโฟน, ดาวเทียม, การท่องอินเตอร์เนต, ระบบปรับอากาศ, ระบบวิทยุดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ควรเชื่อมต่อและสั่งการได้อย่างรวดเร็ว ไร้การติดขัด
 

ตัวอย่างระบบ Infotainment ที่น่าสนใจ

ก่อนจะพาไปดูตัวอย่างระบบ Infotainment ที่น่าสนใจกับเทคโนโลยีล้ำ ๆ เราลองมาดูระบบ Infotainment ที่มีการใช้ในปัจจุบันกันก่อนเลยครับ
 

ระบบ Infotainment ที่มีการใช้ในปัจจุบัน

ไม่ว่าท่านจะเป็นเจ้าของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ หรือรถเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิม ก็ต้องผ่านการใช้งานระบบ Infotainment มาแล้วไม่มากก็น้อยครับ กับแผงปุ่มควบคุม จอ หรือปุ่มต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่บริเวณคอนโซลหน้ากลางห้องโดยสาร ไปจนถึงแผงเกียร์ของผู้ขับขี่นั่นเอง มาอัพเดทไปพร้อมกันดีกว่า..ว่าระบบ Infotainment ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีอะไรบ้าง
  • วิทยุ FM-AM แบบดิจิทัล

    หนึ่งในระบบ Infotainment สุด Classic ที่มีมากับรถยนต์หลายยุคสมัย ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ขับขี่ได้รับความเพลิดเพลินระหว่างทางสู่จุดหมาย อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็เริ่มมีสถานีวิทยุดิจิทัลจำนวนมาก จนเกิดศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า Digital Radio Broadcasting หรือ DAB Radio นั่นเอง
  • หน้าจอ Touchscreen ความละเอียดสูง / ขนาดใหญ่

    ปัจจุบันจอ Touchscreen (LCD / TFT) ที่มีขนาดจอตั้งแต่ 7 - 17 นิ้ว ทั้งยังสามารถปรับ Auto Adjust Tilt & Horizon Angle กำลังเข้ามาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์ยุคใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งในจุดขายของรถยนต์แต่ละค่ายกันแล้ว เพราะช่วยเพิ่มสวยงามพรีเมียมให้กับห้องโดยสาร ทั้งยังถูกออกแบบมาให้รวมทุกระบบการควบคุมต่างๆภายในรถยนต์ มาไว้ในที่เดียว ให้ควบคุมได้ง่ายและสะดวกสบายสูงสุด
  • จับคู่กับ Smartphone ได้เต็มรูปแบบ

    ผู้ขับขี่สามารถเชื่อมต่อมือถือ Smartphone เข้ากับระบบ Infotainment ผ่านระบบ Bluetooth ได้ง่ายดายกว่าในสมัยก่อนมากยิ่งขึ้น การจับคู่อัตโนมัติช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมทุกฟีเจอร์สำคัญได้ง่ายมากขึ้น เช่น การโทรเข้า-ออก ผ่านปุ่มควบคุมบนรถยนต์ รวมถึงการใช้คำสั่งเสียงร่วมด้วยได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือ การควบคุมการเล่นเพลงจากโทรศัพท์มือถือ ผ่านระบบ Auto Audio Streaming เป็นต้น
  • ระบบเล่นสื่อ Multimedia ทุกชนิด

    ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสื่อภาพ เสียง หรือวิดีโอสกุลต่างๆ จาก Media Streaming ค่ายยอดฮิตทั้ง Netflix, HBO, Disney, Amazon Prime หรือ Youtube, Joox, Spotify ผ่านสาย HDMI, USB, สาย AUX หรือ Bluetooth ก็ตาม ทำให้ผู้ขับขี่มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นสำหรับประสบการณ์ความบันเทิงที่ตามติดไปได้ทุกที่ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่บ้านอีกต่อไป
  • ระบบแผนที่ GPS นำทาง

    มีทั้งเป็นระบบ GPS นำทางจากค่ายรถยนต์ต่างๆ และการเชื่อมต่อแอพพลิเคชัน Google Map บน Smartphone ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน รวมถึง Google Assistant Driving Mode บน Android Auto จากโทรศัพท์แอนดรอยด์ หรือ Apple Car Play จากระบบมือถือ iOS
  • ระบบแสดงข้อมูลของรถยนต์

    ซึ่งจะแสดงสถานะต่างๆ ของรถยนต์ ช่วยเพิ่มความปลอดภัย/ความสะดวกสบายแก่ผู้ขับขี่ เช่น ระดับน้ำมัน, ระดับระนาบรถ, ปริมาณแบตเตอรี่, แรงดันลมยาง, อุณหภูมิภายใน/ภายนอกรถ เป็นต้น รวมไปถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับ ADAS เช่นจอแสดงภาพมุมมอง 360 องศารอบคัน จอระบบถอยจอดอัตโนมัติ (Parking Assist) จอแสดงการควบคุมให้รถอยู่ในเลน (Lane Keep Assistance) เป็นต้น
BMW’s iDrive แสดงข้อมูลสถานะรถยนต์
หน้าจอ BMW iDrive ที่แสดงข้อมูลสถานะของรถยนต์
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.passportbmw.com
 

ระบบ Infotainment ที่น่าสนใจจากค่ายรถยนต์

ทางค่ายรถยนต์เองก็ได้แข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีความอัจฉริยะของระบบ Infotainment เข้ามา เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่ และใช้เป็นจุดขายให้รถยนต์มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เรามาลองดูระบบที่น่าสนใจจากค่ายรถยนต์เหล่านี้กัน

ระบบ MG i-SMART

ระบบปฏิบัตการอัจฉริยะจากค่าย MG ให้ผู้ขับขี่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับระบบภายในรถยนต์ โดยมีฟีเจอร์โดดเด่นมากมาย
  • Smart Check ตรวจเช็กสถานะรถได้เองง่าย ๆ ผ่าน Smartphone ไม่ว่าจะเป็น
    • Charging Management ตรวจสอบสถานะแบตเตอรี่ และการชาร์จรถยนต์ (สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า)
    • Remote Vehicle Control ควบคุมการล็อค-ปลดล็อคประตู พร้อมระบบ Find My Car สำหรับตรวจหาตำแหน่งของรถ
    • Remote Vehicle Diagnosis คอยตรวจสอบสถานะของรถยนต์ และแจ้งหากพบความผิดปกติ
    • Security Alarm แจ้งเตือนหากเกิดความผิดปกติของรถยนต์
    • Electronic Fence ระบบแจ้งเตือนหากมีการใช้รถนอกขอบเขตที่กำหนด (สามารถกำหนดขอบเขตการใช้รถยนต์ได้ตั้งแต่ 500 เมตร จนถึง 10 กิโลเมตร)
    • Passion Service ช่วยค้นหาศูนย์บริการใกล้คุณ พร้อมทำการนัดหมายและบันทึกการดูแลรักษารถยนต์ของคุณ
  • Smart Command สั่งการรถยนต์ง่าย ๆ ผ่านการพูดแค่ “Hello MG” เพื่อเริ่มการสั่งงานด้วยเสียง หรือควบคุมผ่าน Smartphone และหน้าจอ Touchscreen ในตัวรถยนต์
    • Digital Key Technology ที่ใช้งานร่วมกับแอพลิเคชั่ร i-SMART บน Smartphone
    • Thai Voice Command สั่งการผ่านคำสั่งเสียงภาษาไทยได้
    • Remote AC On/Off เปิดปิดแอร์บนรถได้ง่าย ๆ ผ่าน Smartphone
    • Smart Call รับสาย-โทรออก ผ่านหน้าจอ Touchscreen
    • i-CALL ช่วยติดต่อ Call Center ได้รวดเร็วผ่านปุ่มลัดบนพวงมาลัย พร้อมมี Emergency Call ที่โทรหาเบอร์คนสำคัญอัตโนมัติ หากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ถุงลมนิรภัยทำงาน
    • Travel Plan แสดงจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนแผนที่ในรถยนต์ และสามารถส่งแผนการเดินทางจาก Smartphone มายังหน้าจอได้
  • Smart Connect เชื่อมต่อความบันเทิงได้หลากหลาย
    • Online Music เล่นเพลงฮิตได้อย่างสะดวก
    • Smart Navigation แสดงผลการจราจรแบบ Real-time
    • Weather Forecast แสดงข้อมูลพยากรณ์สภาพอากาศแบบอัปเดต
    • News Update บนหน้าจอ Touchscreen
    • Food & Travel Guide แนะนำร้านเด็ด ร้านดัง บนแผนที่
    • Online Upgrade System ที่ช่วยอัปเดตระบบได้เอง ผ่านระบบออนไลน์
MG i-SMART
MG คือ ผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ
ที่บุกเบิกฟังก์ชันสั่งงานด้วยเสียง

ระบบ Honda CONNECT

ระบบที่มาพร้อมแอพลิเคชั่น Honda CONNECT บน Smartphone ช่วยให้การควบคุมระบบต่าง ๆ บนรถยนต์ เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น โดยทำงานประสานร่วมไปกับระบบความปลอดภัย Honda Sensing โดยมี 6 ฟังก์ชั่นหลัก คือ
  • ฟังก์ชั่นสถานะรถยนต์ : แจ้งสถานะความพร้อมของรถยนต์ ก่อนออกเดินทาง
  • ฟังก์ชั่นข้อมูลลักษณะการขับขี่ : บันทึกข้อมูลการขับขี่และแสดงผลพฤติกรรมการขับขี่ต่างๆ
  • ฟังก์ชั่นตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์ : ระบบจะส่งตำแหน่งพิกัดของรถยนต์ผ่านทางอีเมล ผ่านฟีเจอร์ Find My Car
  • ฟังก์ชั่นติดต่อเพื่อช่วยเหลือฉุกเฉิน : หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบจะส่งสัญญาณไปยัง Call Center เพื่อติดต่อประสานงานกับเบอร์โทรที่ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (1669)
  • ฟังก์ชั่นค้นหาและแชร์การเดินทาง : ค้นหาสถานที่ใกล้เคียงได้สะดวก พร้อมทั้งบันทึกสถานที่ที่ใช้เป็นประจำได้ในตัว
  • ฟังก์ชั่นข่าวสารและสิทธิพิเศษ : แจ้งข้อมูลข่าวสารและสิทธิพิเศษจากทาง Honda
Honda Sensing
นอกจากนี้ honda ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี
ADAS อย่าง Honda Sensing อีกด้วย

ระบบ Toyota T-Connect Telematics

ระบบ Infotainment จากทาง Toyota ที่ช่วยเชื่อมต่อรถยนต์กับมือถือ Smartphone ให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สำหรับด้าน Toyota นั้น จะมีฟังก์ชั่นอะไรมาให้บ้าง มาดูกัน
  • Located & Protect
    • Find My Car (ค้นหาตำแหน่งรถ) : แสดงตำแหน่งรถได้แบบ Real-time
    • Theft Tract (ติดตามรถหาย) : ตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์ในกรณีถูกโจรกรรม
    • SOS (ช่วยเหลือฉุกเฉิน) : ประสานงานขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
    • Geo-Fencing (กำหนดขอบเขตปลอดภัย) : แจ้งเตือนทันที เมื่อรถอยู่ในตำแหน่งนอกขอบเขตที่เราได้ทำการตั้งค่ากำหนดไว้
  • Telematics Care
    • Maintenance Reminder (แจ้งเตือนบำรุงรักษา) : มีการแจ้งเตือนจากศูนย์บริการ พร้อมช่วยทำการลงคิวนัดหมาย
    • Vehicle Information (ข้อมูลรถและการขับขี่) : แสดงสถานะต่าง ๆ ของรถยนต์ พร้อมช่วยแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงวันต่อทะเบียน
    • Insurance (ประกันภัย ขับดี ลดให้) : เบี้ยประกันที่ถูกลง ตามพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ (ต้องสอบถามรายละเอียดกับทาง Toyota อีกครั้ง)
  • Happiness Mobility
    • Concierge Services (บริการผู้ช่วยส่วนตัว) : โทรสอบถามเรื่องที่สงสัยกับทาง Call Center ได้ทันที
Toyota T-Connect Telematics
Toyota T-Connect แบบสรุปเข้าใจง่ายๆ

ระบบ PIVI Pro จาก Land Rover

มาถึงแบรนด์รถยนต์สายเท่อย่าง Land Rover ที่นอกจากการขึ้นชื่อในเรื่องความลุยแล้ว ระบบ Infotainment ที่ทางค่ายให้มา ก็มีการพัฒนาความทันสมัยให้น่าใช้งานมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดย Land Rover มีระบบใหม่ที่ชื่อ PIVI Pro ซึ่งมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
  • Online Pack ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถใช้งาน Application ต่าง ๆ ผ่านระบบ Infotainment ได้โดยตรง
  • Smartphone Pack ที่เชื่อมต่อได้ทั้งระบบ Android Auto และ Apple CarPlay
  • Wireless Software Updates สามารถอัปเดตซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยได้อยู่เสมอ อย่างเช่น ระบบแผนที่นำทาง
  • InControl Remote App ที่ช่วยให้สามารถควบคุมรถยนต์ผ่านมือถือ Smartphone ได้อย่างง่ายดาย
  • ระบบ Secure Tracker ที่ช่วยติดตามรถยนต์หากเกิดเหตุโจรกรรม
  • สามารถใส่ Sim Card เพื่อให้รถออนไลน์ได้ตลอดเวลา ทำให้สามารถเชื่อมต่อ Streaming ได้ไม่จำกัด
  • มีระบบฟอกอากาศในห้องโดยสาร ที่สามารถจับอนุภาค PM2.5 ได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้โดยสาร
  • iGuide App ที่เป็น Digital Manual (คู่มือการใช้งานแบบดิจิทัล) ให้สามารถศึกษาการใช้งานต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น
  • ระบบปุ่มสัมผัสบนพวงมาลัย ให้การควบคุมระบบต่าง ๆ ระหว่างขับขี่ เป็นไปอย่างง่ายดาย
  • การใช้เสียงควบคุม ผ่านปุ่มสั่งการบนพวงมาลัย
  • การจัดการ Media ได้ตามความชอบ สามารถบันทึกรายการโปรดได้สะดวก
  • ClearSight Ground View ที่มาพร้อมกล้อง 3 มิติแบบรอบทิศทาง รวมไปถึงพื้นผิวใต้ตัวถังรถ (ช่วยให้ขับขี่บนทางขรุขระ หรือขับบนโขนหินได้อย่างมั่นใจ) และมีกระจกมองหลัง ClearSight
ขอบคุณข้อมูลและ VDO จาก www.landrover.co.th

ระบบ MBUX จาก Mercedes Benz

ระบบ MBUX ของรถเบนซ์ ซึ่งมีชื่อย่อมาจาก Mercedes Benz User Experience มีเอกลักษณ์ของหน้าจอขนาดยาว พร้อมดีไซน์ที่ Luxury ตามแบบฉบับของ Mercedes Benz และมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอย่าง
  • ปรับแต่งบรรยากาศในรถได้ ด่วยการตั้งค่าเลือกใช้ธีมสีให้เปลี่ยนไปตามบรรยากาศได้ล่วงหน้า
  • การพยากรณ์กิจกรรมของผู้ใช้ (User Action Prediction) ซึ่งมีขุมพลังของ A.I. ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของเจ้าของรถ ให้ทำงานอย่างถูกใจ ถูกที่ ถูกเวลา
  • รูปแบบการแสดงผลที่ปรับได้ถึง 4 สไตล์ ได้แก่ Classic, Sport, Progressive และ Subtle
  • ระบบสั่งงานด้วยเสียง Linguatronic สามารถรับฟังคำสั่งเสียง อ่านข้อความในกล่อง Message ให้เจ้าของรถรับฟัง หรือส่งข้อความก็ได้เช่นกัน เพียงแค่เริ่มต้นคำสั่งว่า “Hey Mercedes”
  • การสัมผัสที่หลากหลาย ทั้งการกดผ่านหน้าจอ Touchscreen บนคอนโซลกลาง, Touch Pad สั่งการด้วยปลายนิ้วมือสัมผัส การควบคุมผ่านปุ่มบนพวงมาลัย รวมไปถึงการสั่งการด้วยท่าทาง (Gesture Control)
  • MBUX Entertainment ที่สามารถเชื่อมต่อบริการวิทยุหรือ Streaming จากหลากหลายผู้ให้บริการไว้ในที่เดียว อาทิ Tidal, Spotify, Apple Music หรือ Amazon Music เป็นต้น 
  • ระบบ Infotainment สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง (หรือ MBUX Rear Seat Entertainment System) ช่วยให้ผู้โดยสารเบาะหลังสามารถเพลิดเพลินกับความบันเทิง หรือติดต่อประสานงานได้อย่างสะดวกสบาย
  • ระบบนำทางที่แสดงข้อมูลกราฟฟิกแบบเรียลไทม์จากสภาพแวดล้อมจริง (MBUX Augmented Reality Navigation)
  • ระบบชาร์จสมาร์ทโฟนไร้สาย (Wireless Charging)
  • ระบบการเชื่อมต่อกับ Smartphone ที่ได้ทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto
  • จอแสดงผลบนกระจก (Head Up Display) อัพเกรดแผงกระจกหน้าให้เป็น Digital Cockpit สุดล้ำสมัย โดยไม่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่
รีวิว The New MBUX Homescreen
EV สุดหรูอย่าง Mercedes Benz EQS

ระบบ BMW iDrive

BMW iDrive ระบบขึ้นชื่ออยู่คู่กับรถยนต์ค่าย Bayerische Motoren Werke (BMW) ที่ทางค่ายได้มีการพัฒนาตัวระบบ iDrive มาอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้จะใช้ระบบ BMW Operating System 8 (และในขณะที่เขียนบทความนี้ ก็กำลังจะมีเวอร์ชัน 8.5 และ 9 ออกมาให้ได้ทดลองกัน)
สำหรับฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ BMW iDrive มีดังนี้
  • BMW Curved Display หน้าจอโคงที่สามารถมองเห็นได้ในทุกองศา พร้อมควบรวมหน้าจอแสดงข้อมูลและหน้าจอ Touchscreen เข้าด้วยกัน
  • BMW Intelligent Personal Assistant สามารถรับคำสั่งผ่านเสียงได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถใช้ท่าทาง (Gesture) ในการตอบสนองได้
  • ควบคุมหน้าจอด้วยระบบ iDrive Controller ที่สามารถปรับ widget ตามการใช้งานของแต่ละคนได้ และยังสามารถปรับแต่งการควบคุมได้มากกว่า 10 รูปแบบภายในคลิกเดียว ผ่านระบบ MyModes
  • มีแอพลิเคชั่น My BMW App ที่สามารถล็อกอินด้วย BMW ID เข้ากับรถยนต์ได้ ทำให้สามารถโหลดการตั้งค่าต่างๆ จาก BMW ID ได้
  • ระบบ OS8 (Operating System 8) มีความถี่คลื่นวิทยุที่กว้างพิเศษขึ้น (Ultra-Wideband) ทำให้สามารถระบุระยะห่างระหว่างตำแหน่งของรถยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ (เช่น กุญแจรีโมท, Smartphone) ได้แม่นยำมากขึ้น
  • BMW Digital Key (และจะทยอยมีการอัปเกรดเป็น BMW Digital Key Plus) ที่สามารถเปลี่ยนให้ Smartphone กลายเป็นกุญแจรถยนต์ได้
สาธิตการใช้งาน BMW iDrive

ระบบ Audi MMI

Audi MMI หรือ Multi-Media Interface ระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการควบคุมระบบเครื่องเสียง, การตั้งค่าต่าง ๆ ภายในรถยนต์ โดย Audi MMI จะมีหน้าจอควบคุมอยู่ 2 ตำแหน่ง ได้แก่
  1. หน้าจอ Virtual Cockpit ด้านหน้าคนขับ แสดงข้อมูลของรถยนต์ผ่านหน้าจอ Digital พร้อมปรับแต่งได้ตามสไตล์ที่ชอบ ซึ่งบน Virtual Cockpit นี้ มีฟีเจอร์ให้ใช้เด่น ๆ อย่าง
    • ใช้ระบบ Steering Wheel Multi Control ควบคุมการแสดงผลหน้าจอได้ เพียงสัมผัสผ่านปุ่มที่อยู่บนพวงมาลัย
    • แสดงการใช้งานระบบ Driver Assistance Systems ระบบช่วยขับรถยนต์อัจฉริยะของ Audi
    • ระบบ MMI Navigation มาพร้อมการแสดงแผนที่นำทางได้ทั้งแบบ 2D และ 3D
  2. หน้าจอ Touchscreen ที่อยู่กลาง Console รถยนต์ มาพร้อมลูกเล่นอย่างระบบ Haptic Feedback สั่นตอบสนองเมื่อมีการกดสัมผัสหน้าจอ และยังมีปุ่ม Physical Button ที่สามารถใช้ปรับการควบคุมได้เช่นกัน โดยหน้าจอส่วนนี้ จะเป็นศูนย์รวมการควบคุมระบบ Infotainment หลักภายในรถ Audi ตัวอย่างเช่น
    • เชื่อมต่อกับ Smartphone ผ่าน Apple CarPlay หรือ Android Auto
    • ควบคุมระบบปรับอากาศได้ง่าย ๆ ผ่านจอ Touchscreen
    • Ambient Light ปรับระดับความสว่างและสีของแสงไฟภายในรถยนต์ได้
    สำหรับใครที่อยากเชื่อมต่อบริการออนไลน์ต่าง ๆ ก็สามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Audi MMI App ( Audi Connect) เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตภายในรถยนต์ได้เช่นกัน
สาธิตการใช้งาน Audi MMI Virtual Cockpit

ระบบ Porsche PCCM

ในขณะที่หลายๆ ค่ายรถยนต์พยายามปรับประสบการณ์การใช้งานของ UX&UI ระบบ Infotainment ให้ดูทันสมัยเหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์ Sci-Fi กับรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด
Porsche กลับมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่าง ด้วยการออกแบบที่มีความ Classic เหนือกาลเวลา พร้อมระบบ Infotainment ที่สามารถนำไปอัพเกรดรับรถยนต์ Porsche รุ่นก่อนหน้าได้อย่างน่าทึ่ง โดยใช้ชื่อว่า Porsche Classic Communication Management (PPCM) โดยจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ
  1. PCCM สำหรับจอแบบ 1-DIN (ขนาด 3.5 นิ้ว) ออกแบบเพื่อสำหรับติดตั้งในรถรุ่นคลาสสิคของ Porsche (ยกเว้น Carrera GT และ 356)
  2. PCCM Plus สำหรับจอแบบ 2-DIN (จอขนาด 7 นิ้ว) สำหรับรถยนต์ Porsche เจนเนอเรชันใหม่อย่าง 911, 993, 914, 959, 924, 928, 944, 968, Boxster, Cayman หรือ Cayenne เป็นต้น
ซึ่งทั้ง PCCM และ PCCM Plus นั้น มาพร้อมฟีเจอร์น่าสนใจ อย่าง
  • User Friendly : มีความใช้งานง่าย สามารถควบคุมหลากหลายฟังก์ชันผ่านจอ Touchscreen แบบดิจิทัล ร่วมกับปุ่มกดแบบดั้งเดิม (Rotary Push Button) เพิ่มความสะดวกในการใช้
  • ระบบหน้าจอนำทางที่มีทั้งแบบ 2D และ 3D ผ่านหน้าจอความสะเอียดสูง พร้อมระบบ Traffic Message Channel (TMC) ให้ข้อมูลแจ้งเตือนล่วงหน้าหากมีการจราจรติดขัดระหว่างเดินทาง
  • รองรับการเล่น Media ความบันเทิงผ่านการเชื่อมต่อกับ Smartphone ผ่านสัญญาณ Bluetooth, USB หรือสาย AUX (อย่างไรก็ตามระบบควบคุมเกี่ยวกับ CD และ Bose AudioPilot จะไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติครับ)
  • Porsche Classic Radio Navigation System : ทำให้รถพอร์ชคลาสสิคสุดคู่ใจของคุณสามารถรับสัญญาณวิทยุดิจิทัลได้ (DAB) และยังเชื่อมต่อกับ Apple CarPlay และ Google Android Auto ได้อีกด้วย
PCCM
ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก www.porsche.com
PCCM Plus
ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก www.porsche.com
อย่างไรก็ตาม สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทาง Porsche ก็มีระบบ Infotainment ที่ทำงานแบบ Personalization ที่สามารถเซฟการตั้งค่าผ่าน Porsche ID บนสมาร์ทโฟน (คล้ายๆ ค่ายใบพัดจากเยอรมัน) ได้เช่นกันในชื่อแบรนด์ “Porsche Communication Management” ลองชมตัวอย่างจากวิดีโอด้านล่างนี้ได้เลยครับ
ระบบ Infotainment ใหม่ล่าสุดจาก Porche

ระบบ Tesla FSD

มาถึงรถสุดล้ำในยุคนี้ มาแรงจนไม่รู้จักไม่ได้ นั่นก็คือ Tesla รถ EV ดีไซน์สุดล้ำ มาพร้อมเทคโนโลยีสุดเจ๋งอย่าง FSD หรือ Full Self-Driving ซึ่งเป็นระบบ ADAS ของทาง Tesla เอง โดยเจ้าของรถสามารถซื้อระบบนี้เพื่อ Upgrade ฟังก์ชั่นรถ Tesla ของคุณให้ฉลาดล้ำขึ้นไปอีกได้ และยังสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์อัจฉริยะอื่น ๆ เพื่อติดตั้งเพิ่มเติมได้เช่นกัน
อย่างที่เกริ่นไปว่า FSD เป็นจุดเด่นที่ถูกพูดถึงสำหรับรถยนต์ Tesla เพราะเป็นการขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Driving) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ที่บุกเบิกเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ซื้อรถ Tesla มาแล้วจะใช้ได้เลยนะครับ ลามิน่าเลยขอมาสรุปฟีเจอร์ของแต่ละแพกเกจ ตามนี้เลย
Package Feature
Autopilot
  • Traffic-Aware Cruise Control
    ระบบควบคุมความเร็วของรถได้ตามการจราจรโดยรอบ
  • Autosteer
    ระบบประคองให้รถอยู่ภายในเลน (แต่ยังเปลี่ยนเลนแบบอัตโนมัติไม่ได้)
Enhanced Autopilot ความสามารถเพิ่มเติมจากแพกเกจ Autopilot
  • Auto Lane Change
    ระบบเปลี่ยนเลนได้อัตโนมัติ
  • Navigate on Autopilot (Beta)
    ระบบการขับขี่อัตโนมัติตามระบบนำทาง
  • Autopark
    ระบบจอดรถอัตโนมัติ
  • Summon
    ระบบควบคุมเคลื่อนย้ายรถจากระยะไกล
  • Smart Summon
    ระบบเรียกรถยนต์อัตโนมัติ ให้รถยนต์ขับออกจากพื้นที่จอดรถได้ด้วยตัวเอง
Full Self-Driving (FSD) ความสามารถเพิ่มเติมจากแพกเกจ Enhanced Autopilot
  • Traffic and Stop Sign Control (Beta)
    ระบบควบคุมการขับรถตามไฟจราจรและป้ายหยุด
  • Autosteer on city streets (กำลังพัฒนา)
    ระบบที่พัฒนามาจาก Autosteer ใน Basic Autopilot โดยสามารถควบคุมการเลี้ยงได้อัตโนมัติ รองรับการใช้งานบนถนนในเมือง
สำหรับระบบ Autopilot เป็นระบบมาตรฐานที่ถูกติดตั้งบนรถ Tesla มาอยู่แล้ว ถ้าอยากอัปเกรดความอัจฉริยะให้กับรถ Tesla ของคุณ สามารถซื้อแพกเกจตามข้างต้นเพิ่มเติมได้ โดยสามารถซื้อได้ 2 รูปแบบ คือ
  1. แบบซื้อขาด2
    • Autopilot อัปเกรดเป็น Enhanced Autopilot ได้ในราคา 122,000 บาท
    • Autopilot อัปเกรดแบบจัดเต็มเป็น FSD ได้ในราคา 244,000 บาท
  2. แบบจ่ายรายเดือน3
    • Autopilot อัปเกรดเป็น FSD ในราคา $199 ต่อเดือน
    • Enhanced Autopilot อัปเกรดเป็น FSD ในราคา $199 ต่อเดือน
Tesla FSD (Full Self-Driving)
ภาพและข้อมูลจาก blink-drive.com และ www.tesla.com
สิ่งนี้เกี่ยวกับระบบ Infotainment ยังไง? … ต้องบอกว่าเกี่ยวข้องเลยล่ะครับ เพราะความล้ำหน้าตรงนี้ ทำให้ Tesla ใส่ลูกเล่นของ Infotainment ได้เต็มที่ เพราะมีระบบช่วยขับตามที่เราได้แชร์กันไปในข้างต้น โดยจุดเด่นอย่างแรกที่สะดุดตาเลยนั่นก็คือ หน้าจอ Touch Screen ขนาดใหญ่ (มาก) ซึ่งติดตั้งมากับรถ Tesla ช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชม Infotainment ต่างๆ ได้อย่างมาก (สำหรับใครที่อยากดูข้อมูลแบบจัดเต็ม สามารถดูเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Tesla ได้เลย)
Tesla Infotainment System
ภาพประกอบและข้อมูลจาก www.tesla.com
 

ระบบ Infotainment ที่น่าสนใจจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Application)

อัพเดทระบบ Infotainment ของเหล่าค่ายผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังกันไปบ้างแล้ว คราวนี้มาถึงคิวของอีกรูปแบบของการสัมผัสประสบการณ์ Infotainment รูปแบบใหม่ (โดยที่ไม่ต้องออกรถใหม่ให้เจ็บกระเป๋ามากนัก !?) นั่นคือการติดตั้งอุปกรณ์เสริมรูปแบบต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นอัพเกรดจอรถยนต์เดิมจากโรงงาน ให้เป็นระบบใหม่ด้วยการเสียบสาย HDMI กับกล่องซอฟต์แวร์ (เช่น CarPlay Box, Google TV หรือ Apple TV) หรือติดตั้งจอรถยนต์ใหม่ ที่มาพร้อมระบบซอฟต์แวร์ในตัว ซึ่งมีผู้พัฒนาซอฟท์แวร์​สองรายใหญ่ในตลาด ณ ขณะนี้ ได้แก่

ระบบ Android Auto

ระบบปฏิบัติการจากบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ที่ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลต่าง ๆ ใน Smartphone เข้ากับจอติดรถยนต์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็น Google Maps, YouTube, ระบบการโทรเข้า-ออก เป็นต้น รวมทั้งมีฟีเจอร์คำสั่งเสียงอย่าง Google Assistant ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกได้มากขึ้นไปอีกขั้น
Android Auto
ตัวอย่างหน้าจอ Android Auto
ที่มา : Google Play

ระบบ Apple CarPlay

ระบบปฏิบัติการจากแบรนด์ดังอย่าง Apple ซึ่งฟีเจอร์โดยรวมค่อนข้างคล้ายกับ Android Auto แต่จะเป็น Application ที่พัฒนาจากทาง Apple (เช่น ระบบคำสั่งเสียง Siri) ระบบนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ใช้งาน iPhone อยู่แล้ว
Apple CarPlay
ตัวอย่างหน้าจอ Apple CarPlay
ที่มา :www.cars.com
 

รถเก่า ก็ Upgrade ระบบ Infotainment ได้

สำหรับใครที่ชอบความ Classic แบบรถเก่า และอยากอัปเกรดความสะดวกสบายของระบบ Infotainment ก็สามารถติดตั้งจอเสริมเข้าไปได้ โดยยุคนี้มีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จอที่ทำมารองรับระบบปฏิบัติการเดียวกับมือถือ (เรียกกันว่า จอ Android หรือ จอแบรนด์ (หมายถึงยี่ห้อลำโพง, เครื่องเสียงในรถยนต์ชื่อดัง ที่หันมาทำจอ Infotainment แข่งขันกับจอ Android)
มีให้เลือกหลากหลายทั้งดีไซน์ กรอบ ขนาดจอ ความละเอียดจอ สเปคของ CPU หรือ RAM รวมไปถึงฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งแข่งขันกันเรื่องคุณภาพเสียงที่ได้ด้วยเช่นกัน สำหรับท่านที่เป็นเจ้าของรถยนต์เดิมๆ (นับตั้งแต่ปี 2019 ลงไป) จะเหมาะกับจอ Android หรือจอแบรนด์รูปแบบใดลองติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลิปจากคลิปด้านล่างนี้ก่อนได้ครับ
หากมีคนสนใจหัวข้อนี้มากๆ ทางลามิน่าอาจจะทำบทความสรุปแบบเจาะลึกมาให้อ่านกันอีกทีนะ
ขอบคุณคลิปวิดีโอจากช่อง Humming Car Studio
 

อนาคตของระบบ Infotainment จะเป็นอย่างไร

สำหรับทิศทางของระบบ Infotainment ในอนาคต ยังไงก็คงต้องพัฒนาไปพร้อมกับรถยนต์รูปแบบใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในรถของเราให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (อย่างที่เราได้พูดถึงในส่วนของรถ Tesla FSD กันด้านบน)
Tesla FSD
ขอบคุณภาพประกอบจาก insideevs.com
เมื่อการขับขี่แบบไร้คนขับสามารถเกิดขึ้นได้จริง ผู้ขับขี่ก็สามารถเพลิดเพลินไปกับความบันเทิงบนรถยนต์ได้มากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาระบบ Infotainment ที่มีหน้าจอ Touchscreen ใหญ่ขึ้น พร้อมระบบ Entertainment แบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็น

ระบบควบคุมคำสั่งเสียงแม่นยำ 100%

ปัจจุบัน เทคโนโลยี Voice Assistant (อย่างเช่น Siri ของ Apple, Alexa ของ Amazon, Google Assistant ของ Google) ได้ถูกใช้งานร่วมกับการอุปกรณ์ต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานบน Smartphone, บน Smart TV หรือแม้แต่การใช้คำสั่งเสียงร่วมกับการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในบ้าน
แม้การใช้งานเทคโนโลยี Voice Assistant จะไม่ใช่เรื่องใหม่สักเท่าไหร่ แต่การนำมาใช้ร่วมกับการสั่งการใช้งานบนรถ อาจยังสั่งควบคุมไม่ได้ครบทุกฟังก์ชั่น และยังผิดพลาด ขาดความแม่นยำ (จากทั้งเงื่อนไขการรองรับภาษา สำเนียงการพูด การตีความคำสั่งที่ยังผิดเพี้ยน เช่น มีกรณีผู้ใช้รถสั่งเปิดซันรูฟ แต่ระบบรถกลับเปิดกระจกรถทั้ง 4 บานแทน) จึงทำให้ระบบยังไม่ได้ถูกใช้แพร่หลายมากนัก ดังนั้น การพัฒนาระบบคำสั่งเสียงให้แม่นยำขึ้นในอนาคต จะช่วยให้อำนวยความสะดวกในระหว่างการขับขี่ได้อย่างแน่นอน

การจดจำท่าทาง ด้วยระบบ Gesture-Recognition

ระบบการจดจำท่าทาง (Gesture-recognition) ได้มีการนำมาใช้ในมือถือมาสักระยะใหญ่แล้ว แต่สำหรับการใช้งานบนรถยนต์ ยังถือเป็นเรื่องที่ใหม่ ซึ่งหากได้มีการนำมาใช้ คงเป็นอีกวิธีที่เพิ่มความสะดวกในการใช้งานบนรถได้
เพราะหากเกิดมีบางสถานการณ์ที่เราไม่สะดวกใช้เสียง เช่น เป็นหวัด เจ็บคอเสียงแหบ, ติดการสนทนาอื่นอยู่ หรืออาจมีปัญหาเรื่องสำเนียงในการออกเสียงที่อาจทำให้การสั่งคำสั่งไม่ชัด ไม่เคลียร์
การมีระบบจดจำท่าทาง ก็สามารถเป็นอีกทางเลือกให้เราใช้คำสั่งในการควบคุมระบบ Infotainment ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

เปลี่ยนรถ ให้กลายเป็น Games Console เคลื่อนที่

ระบบ Infotainment ที่มีฟีเจอร์ของ Gaming in Car เริ่มเห็นได้ในรถ Tesla ที่ตัวระบบเองมีการใส่เกมที่สามารถเล่นผ่านจอ Touchscreen ได้ รวมทั้งสามารถใช้พวงมาลัยและแป้นเหยีบเบรกเป็น Controller ที่ใช้ในเกมได้เลย หรือถ้าไม่ถนัด จะหาจอยเกมมาเชื่อมต่อ ก็ได้เช่นกัน
ประสบการณ์ที่มากกว่าแค่การโดยสารบนรถยนต์
นอกจาก Tesla แล้ว ค่ายรถอื่นก็ได้เริ่มหันมาสนใจทิศทางการพัฒนา Gaming in Car นี้เช่นกัน อย่างในข่าวที่ทาง Sony และ Honda ได้มีการร่วมมือจัดตั้ง Sony Honda Mobility เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า อาจมีการนำ PlayStation®5 ติดตั้งเข้าไปในรถยนต์มาให้ด้วย (สาวก PlayStation® หลายคน ต้องเฮแน่นอน
Infotainment บน Sony Honda Mobility
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก www.droidsans.com

Vehicle-to-Vehicle (V2V) และ Vehicle-to-Infrastructure (V2I)

ระบบการสื่อสารระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง (V2V) ที่ให้รถยนต์แต่ละคันที่อยู่บนท้องถนนได้มีการแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน (อาทิ ตำแหน่งของรถ, ความเร็ว, ทิศทางที่รถยนต์กำลังไป) และระบบการสื่อสารรถหว่างรถยนต์กับสิ่งก่อสร้างบนนถนน (V2I) เพื่อประมวลคาดการณ์ด้านความปลอดภัย และแจ้งเตือนผู้ขับขี่หากมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุ
โครงการนี้ ได้เริ่มคิดค้นมาจากหน่วยงานดูแลความปลอดภัยทางจราจรบนถนนหลวงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (the National Highway Traffic Safety Administration - NHTSA) ภายใต้กระทรวงคมนาคมสหรัฐ (U.S.Department of Transportation - USDOT) โดยร่วมมือกับ 8 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Mercedes Benz, GM, Toyota, Honda, Ford, Nissan, Hyundai-KIA, Volkswagen ในการพัฒนาระบบ นี้
ปัจจุบัน โครงการนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้บนนท้องถนนจริง เนื่องจากยังมีข้อกังวลในบางเรื่อง เช่น ต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการติดตั้งอุปกรณ์, ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล แต่คาดการณ์ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นการนำระบบ V2V และ V2I มาพัฒนาและนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้รถยนต์และลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างแน่นอน
วิดีโอแสดงการใช้งานของระบบ V2V จากกระทรวงคมนาคมสหรัฐ
ในอนาคตหลังจากนี้ ระบบ Infotainment คงจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อรถยนต์อย่างแน่นอน และคงจะเป็นอะไรที่เพิ่มความสะดวกและความสนุก ให้การโดยสารบนรถยนต์เป็นพื้นที่แห่งความสุขมากขึ้น แต่ในส่วนของความสามารถที่จะมีอะไรที่อัปเกรดเพิ่มมาบ้างนั้น พวกเราคงต้องมารอติดตามความก้าวกระโดดของเทคโนโลยีกันต่อไปด้วยกันครับ
 

สรุป

หากจะตอบว่า การมีระบบ Infotainment เป็นเรื่องง่ายหรือยากต่อการใช้ชีวิต? คงต้องขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละท่านด้วยว่าถนัดในการใช้ UX - UI แบบไหน? และถึงแม้ลูกเล่นแสนทันสมัยของระบบ Infotainment จะโดดเด่นโดนใจเพียงใด หากเรายังไม่เข้าสู่ยุครถยนต์ไร้คนขับอย่างเต็มตัว ทุกครั้งที่นั่งหลังพวงมาลัยก็อย่าลืมที่ตั้งสติก่อนสตาร์ททุกครั้ง ระมัดระวังการใช้ Infotainment จนเสียสมาธิในการขับขี่มากเกินไป เพื่อความปลอดภัยของคุณเองและผู้ร่วมทางข้างๆ นะครับ

1. Generation หรือยุคสมัยของกลุ่มคนตามช่วงอายุ แบ่งได้ดังนี้ (อ้างอิงข้อมูลจาก www.beresfordresearch.com)
  • Baby Boomer : กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1946 - 1964
  • Gen X : กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1965 - 1980
  • Gen Y (Millennials) : กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1981 - 1996
  • Gen Z : กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1997 - 2012
2. ราคาจากทาง Tesla ที่ประกาศในไทย ณ ช่วงปลายปี 2565
3. อัปเดตราคาได้ที่ https://www.tesla.com/support/full-self-driving-subscriptions

สอบถามข้อมูลฟิล์มรถยนต์ที่รองรับระบบ “Infotainment” ได้ที่
โทร. 02-422-2345
Facebook: m.me/LaminafilmsHQ
@LINE: https://lin.ee/ot1aDYm