ติดฟิล์มลามิน่า บูสต์ชีวิตให้เป็น 1 กับโลกดิจิทัล - Boost Up your Life

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ … ติดยากมั้ย? ติดด้วยตัวเองได้หรือเปล่า?

SHARE
วิธีติดฟิล์มรถยนต์
 
วิธีติดฟิล์มรถยนต์ ทำไมคุณผู้อ่านถึงเสิร์ชใน Google คำนี้จนคลิ๊กมาเจอกับบทความของเรา คงไม่ได้กำลังจะตัดสินใจ ซื้อฟิล์มรถยนต์มาติดเอง อยู่ใช่ไหมครับ? เพราะลามิน่าอยากบอกเหลือเกินว่า “เรื่องของการติดฟิล์ม เป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง” ที่ต่อให้เป็นช่างติดฟิล์มมืออาชีพที่บริษัทฯ ซึ่งมีโอกาสติดฟิล์มกระจกรถกันอยู่ทุกวันนับ 100 คัน/เดือน เป็น 1,000 คัน/ปี ก็ยังมีเรื่องให้ต้องเรียนรู้กันอยู่ทุกวัน
 
แล้วนักเรียนออนไลน์อย่างผู้ใช้รถคนไทยทั่วๆ ไปล่ะ จะสามารถดูวิธีการติดฟิล์มจากคลิป Youtube แล้วทำตามได้ง่าย ๆ เลยหรือไม่? เอ้าล่ะ! วันนี้ลามิน่าเตรียมข้อมูลมาให้อ่านกันแบบละเอียดเสมือนคู่มือช่างเลยล่ะครับ รับรองว่ากระจ่างกว่าทุกคลิปที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ตอนนี้ มาลองดูกัน
 
อยากเลือกอ่านแค่บางหัวข้อที่สนใจ กดที่ชื่อหัวข้อได้เลยครับ
 
 


 

วิธีติดฟิล์มกระจกรถยนต์ ติดยากไหม?

วิธีติดฟิล์มกระจกรถยนต์ ติดยากไหม?

ถ้าถามว่า การติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์ยากไหม? ถึงแม้ผู้ตอบจะเป็นช่างติดฟิล์มมืออาชีพเอง ก็คงจะบอกได้ว่า ไม่ง่าย และไม่สบายเหมือนอย่างที่หลายคลิปสอนบน Youtube บอกไว้ เพราะว่า การติดฟิล์มกระจกรถ มีปัจจัยมากมายคาดไม่ถึงที่ส่งผลต่อความยาก-ง่าย ในทุกขั้นตอนการติดฟิล์มรถ ซึ่งลามิน่าพอสรุปออกมาได้เป็นสมการแบบนี้ครับ
 
 [ฟิล์มแต่ละแบบ] x [รถแต่ละรุ่น] x [หน้าต่างแต่ละบาน] = ความท้าทายที่ไม่มีสิ้นสุด
 
รายละเอียดของสมการข้างต้น จะเป็นอย่างไร Lamina Films จะพามาดูและเจาะลึกทุกความท้าทายของการติดฟิล์ม (ที่ช่างหรือคุณ) จะต้อง “คิ้วขมวด” ตามๆ กัน พร้อมวิธีรับมือให้พร้อม ปัจจัยเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง มาดูที่หัวข้อแรกกันเลย
 

1. สภาพกระจกรถยนต์ที่ติดตั้ง

ขนาดของกระจก

ยิ่งบานใหญ่ การประคองฟิล์มยิ่งลำบาก ยิ่งมีโอกาสเกิดฟิล์มหักได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเป็นเทคนิคการติดตั้งขั้นสูงโดยใช้ฟิล์มชิ้นเดียวไร้รอยต่อ ลงบนฟิล์มกระจกบานหน้า และกระจกซันรูฟ อาจต้องใช้ช่างที่มีประสบการณ์และมากกว่า 1 คนในการประคองฟิล์มเพื่อติดตั้งได้อย่างราบรื่น
Haval Jolion ติดฟิล์มรถยนต์ Lamina Ceramatrix Sunroof
ตัวอย่างการติดฟิล์ม Lamina Ceramatrix
บนกระจก Sunroof ที่มีขนาดใหญ่
 

องศาความลาดเอียงของกระจก

ยิ่งลาดเอียงมาก การติดตั้งยิ่งยากมากขึ้น ในกรณีของรถยุโรปหรือรถทรงสปอร์ตที่มีรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวลู่ลม ท่าทางในการติดฟิล์มของช่างนั้นอาจจะเรียกได้ว่า “ต้องมุดตัวหรือนอนหงาย” แทรกตัวเข้าไปเพื่อติดตั้งเลยทีเดียวครับ
Audi Etron GT ติดฟิล์มรถยนต์ Lamina Ceramatrix Sunroof
ผลลัพธ์การติดฟิล์มเซรามิคสวยๆ บนกระจกหลังแบบนี้
เบื้องหลังไม่ได้ง่ายเท่าไรครับ

ความดูดของผิวกระจก

เป็นปัจจัยที่รถแต่ละคันมีไม่เหมือนกัน ผิวกระจกรถบางรุ่น มีความพิเศษในการดูดติดกับแผ่นฟิล์มได้มาก และเร็วกว่ารถปกติ ซึ่งทำให้การติดฟิล์มทำได้ค่อนข้างยาก (การจัดตำแหน่งฟิล์มได้ยาก และมีโอกาสฟิล์มหักได้ง่ายระหว่างที่เคลื่อนย้ายตำแหน่งฟิล์ม)
ผิวกระจกรถยนต์
เบื้องหลังขั้นตอนการวางฟิล์ม
เห็น ‘แรงดูดของกระจก’ ที่ทำต่อแผ่นฟิล์มชัดเจน

ยางขอบกระจกของรถยนต์ที่ติดตั้ง

รถแต่ละรุ่นมีซีลยางขอบกระจกที่แน่น/หลวมแตกต่างกัน ยิ่งแน่นมาก การติดตั้งฟิล์มยิ่งยากในการรีดฟิล์มให้เข้ากับเนื้อกระจกในทุกซอกมุม นอกจากนี้สักหลาดบริเวณขอบกระจกบานข้าง ยังเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองต่างๆ ซึ่งหากทำความสะอาดไม่ดีพอ อาจเป็นอุปสรรคต่อการติดและจับตัวของขอบฟิล์มกับกระจก ซึ่งมีผลให้ขอบฟิล์มลอกล่อนได้ง่ายในอนาคตครับ
สักหลาดร่องกระจกรถยนต์
ตำแหน่งสักหลาดของขอบกระจกรถยนต์

จุดไข่ปลาบนกระจก

“จุดไข่ปลา” (หรือ Frits ในภาษาอังกฤษ) ก็คือ บริเวณชั้นเคลือบสีบริเวณขอบกระจกซึ่งเป็นจุดขนาด 1 มิลลิเมตร เรียงตัวตามขอบกระจก ซึ่งมีหน้าที่ช่วยกรองแสงอาทิตย์ไม่ให้ละลายชั้นกาวที่ใช้เชื่อมกระจกให้ยึดติดแน่นกับโครงรถ และยังเพิ่มความสวยงามลงตัวให้กับรถยนต์อีกด้วย (ไม่ทำให้ขอบกระจกดูเป็นเส้นตัดตรงๆ ที่ดูแข็งกระด้างจนเกินไป)
สำหรับความท้าทายของจุดไข่ปลาที่มีผลต่อการติดฟิล์มรถก็คือ หากติดฟิล์มแล้วเก็บขอบบริเวณจุดไข่ปลาไม่เนี๊ยบพอ มีโอกาสที่ฟิล์มจะหลุดตามขอบ หรือเกิดฟองอากาศได้ เพราะบริเวณจุดไข่ปลามีสภาพผิวที่ไม่เรียบนั่นเอง
จุดไข่ปลา กระจกรถ
กระจกที่มีจุดไข่ปลา จะทำให้ติดตั้งฟิล์มได้ยากกว่าปกติ
 

2. ประเภทของฟิล์มกรองแสงที่ติดตั้ง

แม้ว่าคุณจะเลือกติดตั้ง  ฟิล์มลามิน่า ที่เป็นฟิล์มคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา ก็ใช่ว่าจะช่วยให้การติดตั้งฟิล์มกรองแสงเป็นไปได้ง่ายขึ้น หากคุณไม่มีประสบการณ์รับมือกับฟิล์มรูปแบบต่างๆ มากพอครับ และนี่ก็คือปัจจัยต่างๆ จากเนื้อฟิล์มกรองแสงที่ทำให้การติดตั้งกระจกรถยนต์ได้ ยาก - ง่าย ต่างกัน ดังนี้

ความหนาของเนื้อฟิล์ม

เนื่องจากฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ มีส่วนประกอบหลักๆ 4 ส่วนของ 1. ชั้นพลาสติก TPU 2. ชั้นวัสดุกันความร้อน 3. ชั้นสี 4. ชั้นกาว และ 5. ชั้นกันรอยขีดข่วน ประกอบรวมกันเป็นเนื้อฟิล์มที่มีความหนาตั้งแต่ 1.5 - 4 mil (อ่านรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ ฟิล์มกรองแสง) ฉะนั้น ความหนาของฟิล์มกรองแสงจึงมีผลต่อความยาก - ง่ายในการติดตั้งฟิล์มโดยตรง 
กล่าวคือ ฟิล์มหนา มักเซตตัวให้โค้งรับกับผิวกระจกได้ยาก เมื่อติดตั้งแล้วมีโอกาสเด้งคืนตัวหลุดล่อนออกจากกระจกได้ภายหลัง ในขณะเดียวกัน ฟิล์มบาง แม้จะเซตตัวรับผิวกระจกได้ง่ายกว่า แต่ก็มีโอกาส เสี่ยงเกิดอาการ “ฟิล์มหัก” ดังนั้น ฟิล์มแต่ละแบบก็มีความยากที่แตกต่างกันในตัวของมันเอง
ฟิล์มหัก
รอย ‘ฟิล์มหัก’ ไม่ใช่แค่กวนสายตา
เมื่อใช้นิ้วลูบก็รู้สึกกวนใจ (นูนคล้ายเส้นผมติดกระจก)

วัสดุของเนื้อฟิล์ม

ฟิล์มแต่ละรุ่นผนึกด้วยวัสดุแตกต่างกัน ก็จะมีนิสัยเฉพาะตัวไม่เหมือนกันครับ คำว่านิสัยในที่นี่ก็คืออาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของการติดตั้งฟิล์มกรองแสงบนกระจกรถยนต์ ยกตัวอย่างเช่น
หากเป็น ฟิล์มปรอท (ฟิล์มโลหะ) นิสัยส่วนตัวของเค้าคือไม่ค่อยชอบการไอเป่าลมร้อนนานๆ เพราะหากเป่าฟิล์มด้วยไอร้อนนานเกินไป ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า “ฟิล์มเป็นหมอก หรือฟิล์มเป็นฝ้า” ซึ่งเป็นรอยแบบถาวรไม่สามารถหายเองได้ (ไม่เหมือนกับอาการฟิล์มรถยนต์เป็นฟองอากาศ ซึ่งในบางกรณีสามารถหายเองได้)
หรือในกรณี ฟิล์มดำ จะมีอีกนิสัยเฉพาะตัว คือ เมื่อเป่าฟิล์มด้วยไอร้อนนานเกินไป ก็อาจเกิดอาการฟิล์มขึ้นสีรุ้งเป็นรอยถาวร ยิ่งหากเป็นรุ่นฟิล์มที่วัสดุมีความแข็ง ยืดหยุ่นได้ไม่มากหากติดโดยผู้ไม่มีประสบการณ์​ ในขั้นตอนการเป่าฟิล์มด้วยไอร้อน หากเป่าด้วยอุณหภูมิและระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม เนื้อฟิล์มบางรุ่นมีสิทธิ์แตกตัวเป็นเส้นๆ ได้เลยครับ
ฟิล์มเป็นฝ้า
อาการ  ‘ฟิล์มเป็นฝ้า’ แบบนี้เป็นอาการถาวร
ไม่สามารถหายได้เองนะครับ
 
 


 

อุปกรณ์ติดฟิล์มรถยนต์ มีอะไรบ้าง

อุปกรณ์ติดฟิล์มรถยนต์ มีอะไรบ้าง

ก่อนจะไปดูขั้นตอนการติดฟิล์มกระจกรถ เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า นอกจากเตรียมใจแล้ว ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรกันบ้าง
อุปกรณ์ติดฟิล์มรถยนต์
สารพัดอุปกรณ์ที้ต้องเตรียมในการติดฟิล์ม
(ชื่อของแต่ละรายการ อยู่ด้านล่างครับผม)
  1. ฟิล์มกรองแสงรถยนต์ที่จะใช้ติดตั้ง
  2. คัตเตอร์ พร้อมใบมีดสแตนเลส
  3. ใบมีดสำหรับลอกกาว (พร้อมที่จับ หรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่ความถนัด)
  4. ยางรีดน้ำพร้อมด้ามขนาด 6 นิ้ว
  5. ยางรีดเคลียร์แม็กซ์พร้อมด้าม
  6. เกียงพลาสติก
  7. ไม้โปรแทรกเตอร์
  8. ไดร์เป่าลมร้อน (ไดร์เป่าผมใช้แทนกันไม่ได้ครับ)
  9. แผ่นไนล่อนขาวบาง
  10. น้ำยาติดฟิล์ม หรือ น้ำยา Film-On (สามารถใช้แชมพูที่ไม่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย ผสมกับน้ำเปล่าแทนได้)
  11. น้ำยาลอกกาว (สารเคมีเฉพาะขั้นตอนการติดฟิล์มเท่านั้น ไม่สามารถหาทดแทนได้)
  12. แป้งฝุ่น
  13. กระดาษทิชชู่
  14. ผ้าซับน้ำ
  15. ตลับเมตร
  16. ชุดผ้าคลุมกันน้ำชิ้นส่วนภายในรถ (ชุดผ้าคลุมของลามิน่าออกแบบมาเพื่อการติดฟิล์มโดยเฉพาะ)
จะเห็นได้ว่าแค่เพียงอุปกรณ์ติดฟิล์มหลายๆ ชิ้น ก็ไม่ได้สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป แถมหลายรายการถูกออกแบบมาเพื่อสำหรับการติดฟิล์มโดยเฉพาะ ฉะนั้นใครที่อยากซื้อฟิล์มรถยนต์มาติดเองจริงๆ ลามิน่าแนะนำให้จัดซื้อเตรียมให้ครบทุกรายการนะครับ ซึ่งใช้งบประมาณรวมๆ เบื้องต้นมากกว่า  5,000 บาท เพราะจำเป็นต่อการติดตั้งฟิล์มให้ได้คุณภาพทั้งหมด
แค่ค่าอุปกรณ์ก็เกือบเท่าราคาฟิล์มแล้ว จะคุ้มไหม?
ที่มา: https://tenor.com/

 
 

ข้อควรรู้ก่อนการนำรถยนต์เข้าไปติดฟิล์ม

ก่อนติดฟิล์มกรองแสง แนะนำให้ล้างรถยนต์ก่อนเสมอ เพื่อลดคราบฝุ่นที่เกาะอยู่บนตัวรถและบนกระจก ซึ่งคราบและฝุ่นเหล่านี้อาจเข้าไปติดในเนื้อฟิล์มระหว่างการติดตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นรถที่มีฟิล์มเก่าติดตั้งมาอยู่แล้ว หรือรถใหม่ที่ยังไม่เคยติดฟิล์มก็ตาม
 
 


 

ขั้นตอนการติดฟิล์มรถยนต์ มีอะไรบ้าง?

ขั้นตอนการติดฟิล์มรถยนต์ มีอะไรบ้าง?

มาถึงหัวข้อที่คุณอยากจะรู้กันแล้ว เราขออธิบาย “วิธีติดฟิล์มรถยนต์” ในแบบฉบับมืออาชีพตามมาตรฐานสากล ทั้งแบบภาพรวม พร้อมแจกแจงข้อควรระวังในการติดฟิล์มกระจกรถแต่ละบานนะครับ ได้แก่ กระจกบานข้าง, กระจกบานหน้า, กระจกบานหลัง, กระจกบานหูช้าง และกระจกซันรูฟ มาเริ่มกันเลยครับ !
 


 

กรณีรถมีฟิล์มเก่าติดตั้งมา

กรณีที่รถยนต์มีฟิล์มเก่าติดตั้งมา นอกจากขั้นตอนการติดฟิล์มกรองแสงใหม่แล้ว จะต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นในส่วนของการ “ลอกฟิล์ม - เคลียร์กาวฟิล์มเก่า” ให้หมดจดเสียก่อน (และถ้าเป็นกระจกบานหลัง จะต้องมีการหมักกาวฟิล์มอีกด้วย เพื่อป้องกันอันตรายกรณีลวดไล่ฝ้าอาจเสียหาย) ขั้นตอนสำหรับการจัดการฟิล์มเก่าทั้งหมด มีดังนี้ครับ

1. ลอกฟิล์มรถยนต์เก่าออก

สำหรับขั้นตอนนี้ไม่ซับซ้อนมาก ท่านสามารถใช้มือเปล่า โดยใช้เล็บค่อยๆ สะกิดขอบฟิล์มออกจากผืนกระจก (คล้ายๆ กับการลอกสติ๊กเกอร์ครับ) จากนั้นก็ค่อย ๆ ดึงฟิล์มรถยนต์เก่าให้แยกออกจากกระจก เทคนิคคือการเริ่มแคะออกจากมุมด้านใดด้านหนึ่ง แล้วดึงเข้าหาศูนย์กลางของผืนกระจกดังรูปด้านล่าง 
(ในกรณีฟิล์มเก่าและเสื่อมคุณภาพมากๆ แผ่นพลาสติก TPU อาจกรอบและฉีกขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่าย ทำให้การลอกฟิล์มค่อนข้างลำบากและใช้เวลานานขึ้นมากครับ) การลอกฟิล์มด้วยวิธีนี้สามารถใช้ได้เฉพาะกับฟิล์มบานกระจกหน้า และบานข้างเท่านั้น ไม่ควรใช้การดึงฟิล์มโดยตรงกับกระจกบานหลังเด็ดขาด เพราะลวดไล่ฝ้าอาจหลุดขาดออกมาพร้อมแผ่นฟิล์มได้ ต้องระวังกันให้มากนะครับ
ลอกฟิล์มรถยนต์ด้วยมือเปล่า
สามารถใช้มือลอกฟิล์มรถยนต์แบบนี้ได้เลยครับ

2. ฉีดน้ำยาลอกกาวแล้วใช้ใบมีด ค่อยๆ ขูดคราบกาวออกจากกระจก

หลังจากลอกฟิล์มเก่าออก จะมีคราบกาวเหลือติดอยู่บนกระจก ให้ใช้น้ำยาลอกกาวฉีดทั่วบานกระจก เพื่อเป็นตัวช่วยละลายกาวให้อ่อนนุ่ม ขูดออกได้ง่าย แล้วค่อยๆ ใช้คัทเตอร์ขูดออกโดยการใช้ใบมีดทำมุมเอียงกับกระจกประมาณ 30 องศา แล้วค่อย ๆ ลงน้ำหนักเบาๆ ขูดกาวออกจากกระจก
ขูดคราบกาวฟิล์มรถ
ต้องวางองศาการใบมีดให้พอดี ไม่ทำให้กระจกรถเป็นรอย
ระวังอย่าลงน้ำหนักมือ หรือทำใบมีดมุมองศามากเกินไป เพราะอาจ ขูดผิวจนทำให้กระจกเป็นรอยได้ นอกจากนี้ควรระวังใบมีดขูดไปโดนขอบยาง หรือสะกิดโดนสีรถเป็นรอยได้ จึงต้องระวังขั้นตอนนี้ให้มาก ๆ ด้วยครับ ส่วนภาพด้านล่างนี้ ก็คือคราบกาวจากฟิล์มเดิมแบบชัดๆ (ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่เลย จริงไหม?)
คราบกาวฟิล์มกรองแสง
ตัวอย่างคราบกาวจากฟิล์มเดิม

ก่อนลอกฟิล์มกระจกหลัง ทำไมต้องหมักกาวก่อน?

สำหรับกระจกบานหลังที่มีเส้นไล่ฝ้าติดมากับกระจก ทำให้ไม่สามารถลอกฟิล์มออกจากกระจกได้ทันที เพราะเสี่ยงต่อการทำให้เส้นไล่ฝ้าขาด เสียหาย จึงมีขั้นตอนการหมักกาวเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อช่วยให้การลอกฟิล์มทำได้ง่ายขึ้น โดยมีขั้นตอนทั้งหมดดังนี้ 
  • ตัดเศษไลเนอร์1 จากแผ่นฟิล์มให้พอดีกับกระจกบานหลัง
สำหรับช่างติดฟิล์ม มักจะใช้แผ่นไลเนอร์ฟิล์มที่เหลือใช้จากการติดตั้งฟิล์มกรองแสง มาใช้เป็นวัสดุสำคัญในการหมักกาวครับ แต่ถ้าหากท่านไม่มีเศษฟิล์มไลเนอร์ ก็สามารถนำถุงดำที่ใช้ในครัวเรือนทั่วๆ ไป มาใช้ทดแทนได้
ลอกฟิล์มกระจกรถยนต์ด้วยตัวเอง
  • ฉีดน้ำบนกระจกบานหลัง ด้านที่ติดฟิล์มเดิม 
ฉีดน้ำสะอาดให้ทั่วผืนกระจก เพื่อให้เป็นชั้นความชื้นกักเก็บอุณหภูมิระหว่างขั้นตอนการหมักกาว และทำให้กาวอ่อนตัวได้ง่ายขึ้น
วิธี ลอกฟิล์มกระจก กาว
  • วางเศษแผ่นไลเนอร์ที่เตรียมไว้ลงบนผืนกระจก
โดยวางให้ขอบแต่ละด้านเสมอกับผืนกระจกที่เราตัดไว้ในขั้นตอนแรก แล้วใช้มือค่อยๆ ประกบให้เนื้อไลเนอร์แนบชิดกับผืนฟิล์มเดิมที่ติดอยู่บนกระจกหลังด้านในครับ
ลอกฟิล์มกระจกรถยนต์เก่า
  • เริ่มขั้นตอนการหมักกาว 
หัวใจสำคัญของการหมักกาวคือความร้อนครับ โดยท่านสามารถใช้แหล่งกำเนิดความร้อนได้ 2 วิธี ได้แก่ 1) เป่าไอร้อนที่กระจกด้านนอก จนกระจกมีความอุ่นทั่วทั้งผืนแล้วทิ้งไว้ 30 - 90 นาที2 หรือ 2) นำรถไปจอดตากแดดนาน 3 ชั่วโมง 
สำหรับผู้ใช้รถทั่วไปที่อยากลองหมักกาว ลามิน่าแนะนำวิธีที่ 2 เพราะทำได้ง่ายกว่ามากๆ ในขณะที่วิธีแรก ต้องอาศัยประสบการณ์ในการกะประมาณความร้อนบนกระจกให้ดี หากทำโดยผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ กระจกหลังมีสิทธิ์แตก ได้ครับ
วิธีลอกฟิล์มกระจกรถยนต์
ช่างจะใช้มือสัมผัสผิวกระจกเพื่อกะประมาณ
อุณหภูมิให้ไม่ร้อนเกินไป จนกระจกแตกร้าว
  • ลอกแผ่นไลเนอร์และฟิล์มเก่าออกจากกระจกหลัง
ในขั้นตอนนี้ จะดึงแผ่นไลเนอร์ออกก่อนแล้วค่อยๆลอกฟิล์มเก่าออกช้าๆ ห้ามกระชาก ในขณะที่ลอกฟิล์มให้ใช้เทคนิคเหมือนกับกระจกบานอื่นๆ ครับ ค่อยๆดึงจากมุมกระจกเข้าหาศูนย์กลางผืนกระจกช้าๆ และให้ ระวังเส้นไล่ฝ้ากระจกหลังขาด ในขั้นตอนนี้ด้วยนะครับ
 
ลอกฟิล์มกระจกรถยนต์ ไล่ฝ้า
คลิปตัวอย่างนี้มีการเร่งความเร็วภาพ
การลอกฟิล์มจริงให้ค่อยๆ ลอกออกช้าจะดีที่สุด
  • ขัดคราบกาวออกเบาๆ ด้วยผ้าไนล่อนสีขาว
ขั้นตอนนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่อยากฝากให้ทุกท่าน “ใจเย็นๆ” ครับ ค่อยๆ ขัด ค่อยๆ ถูคราบกาวออกจากกระจกหลังอย่างอ่อนโยน เนื่องจาก “เส้นไล่ฝ้ากระจกหลัง” มีโอกาสฉีกขาดสูงในขั้นตอนนี้เช่นกัน ถึงแม้รถญี่ปุ่นจะได้เปรียบเรื่องความทนทานของเส้นไล่ฝ้ามากกว่ารถยุโรปเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็ไม่ควรประมาทครับ
วิธีขัดคราบกาวออกจากไล่ฝ้ารถยนต์
เพียงเท่านี้ก็ถือว่าขั้นตอนการหมักกาวเสร็จสิ้นแล้ว สามารถเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปของการติดตั้งฟิล์มได้ครับ หากเป็นช่างติดฟิล์มที่ชำนาญแล้วก็อาจจัดการขั้นตอนนี้จนเสร็จได้ภายในระยะเวลา 1.5 - 2 ชั่วโมง ถ้าเป็นมือใหม่ก็เผื่อเวลาไว้สำหรับการหมักกาวและลอกกาวโดยเฉพาะสัก 3-4  ชั่วโมงขึ้นไป  นะครับ

3. ใช้น้ำยาล้างเล็บเช็ดคราบกาวออกอีกครั้ง

ถึงแม้ว่ากระจกจะได้รับการขัดคราบกาวด้วยใบมีด หรือแผ่นไนลอนขาวบางในขั้นตอนก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามก็อาจยังมีเศษคราบกาวเก่าหลงเหลืออยู่ได้ เพื่อให้กระจกสะอาดหมดจดก่อนติดฟิล์มใหม่ ให้ใช้กระดาษทิชชู่ ชุบด้วยน้ำยาล้างเล็บปราศจากสารแอมโมเนีย (ภาษาช่างจะเรียกกันว่า “น้ำยาเขียว”) ทำความสะอาดเช็ดคราบกาวออกจากกระจกรถอีกครั้งหนึ่ง
เช็ดคราบกาวฟิล์มกระจกรถ
ห้ามใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียเช็ดเด็ดขาด
เพราะอาจสร้างความเสียหายแก่เนื้อฟิล์มกรองแสงที่จะติดตั้งใหม่ได้

4. ทำความสะอาดกระจกอีกครั้งก่อนติดตั้งฟิล์ม

โดยการใช้เกียงพลาสติกขัดกับน้ำเปล่า ล้างคราบกาวฟิล์มเดิม ฝุ่นละออง หรือเศษสักหลาด ที่อาจยังหลงเหลือบนผิวกระจกให้สะอาดอีกครั้ง ก่อนทำการติดตั้งฟิล์มใหม่ บนกระจกในขั้นตอนต่อไป ที่ลามิน่ากำลังจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไปครับ
วิธีล้างคราบกาวฟิล์มรถ
ล้าง ขัด เช็ด ให้ชัวร์ 100% ก่อนเริ่มติดฟิล์มจริง

 


 

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ (กรณีติดใหม่/ลอกฟิล์มเก่าแล้ว)

หลังจากนำรถไปล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ทีนี้เรามาดูมาดูวิธีติดฟิล์มกระจกรถยนต์กันต่อครับ อาจจะมีบางบานที่มีวิธีพิเศษเฉพาะตัว แต่เดี๋ยวเราจะค่อยๆ ทยอยเจาะลึกกันในส่วนถัดไป พร้อมแล้วตามมาดู 12 ขั้นตอนติดฟิล์มฉบับมือโปร กันเลยครับ

1. วัดขนาดกระจกแต่ละบานที่จะทำการติดตั้ง

วัด Size ของกระจกแต่ละบาน ทั้งความกว้างและความสูงของกระจก ไม่ว่าจะเป็น กระจกบานหน้า, บานข้าง, บานหลัง รวมถึงกระจกซันรูฟ (Sunroof) ที่อยู่ด้านบน (ถ้าหากมี) เพื่อให้ทราบขนาดของฟิล์มที่จะต้องตัดออกจากม้วนใหญ่อย่างเหมาะสมครับ
เริ่มต้นติดตั้งฟิล์มรถยนต์
ช่างเริ่มทำการวัดขนาดกระจก

2. ปูผ้าขนหนูบริเวณคอนโซล และที่พักแขน

เนื่องจากการติดตั้งฟิล์มกรองแสง เป็นการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ต้องใช้น้ำระหว่างติดตั้ง การปูผ้าขนหนูแบบนี้ก็เพื่อไว้ช่วยซับน้ำแชมพูส่วนเกินที่เกิดขึ้นระหว่างติดตั้งฟิล์ม และยังช่วยป้องกันระบบไฟฟ้า และกลไกอิเล็กทรอนิคส์ของรถยนต์ให้ปลอดภัย ไม่ให้มีน้ำขังอีกด้วยครับ (ผ้าขนหนูและชุดคลุมเบาะ - พวงมาลัยในภาพตัวอย่าง ออกแบบมาเพื่อใช้กับการติดฟิล์ม เฉพาะที่ศูนย์ติดตั้งฟิล์มลามิน่า เอ็กซ์คลูซีฟช้อปโดยเฉพาะ ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป)
ผ้าคลุมคอนโซลหน้ารถ ก่อนติดฟิล์มรถยนต์
ติดฟิล์มกับลามิน่า มีชุดคลุมคอนโซลหน้ารถและเบาะโดยเฉพาะ

3. เตรียมแผ่นฟิล์มสำหรับติดตั้งบนกระจกรถยนต์

นำขนาดของกระจกที่วัดได้แต่ละบาน (จากขั้นตอนที่ 1) มาตัดแบ่งฟิล์มเป็นชิ้นใหญ่แยกออกมาจากม้วนฟิล์ม เพื่อเตรียมนำไปตัดขนาด ตามแบบบนกระจกรถของจริงในลำดับต่อไป
เตรียมฟิล์มรถยนต์ก่อนติดต้ัง
ช่างสาธิตการตัดแผ่นฟิล์มออกจากฟิล์มม้วนใหญ่

4. ทำความสะอาดกระจก

ถึงแม้จะมีการล้างรถมาแล้ว แต่ก่อนจะนำแผ่นฟิล์มมาติดตั้ง ก็ต้องมีการทำความสะอาดบานกระจกกันเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อฟิล์มเกิดความเสียหายจากการเสียดสีกับเม็ดฝุ่นที่อาจติดอยู่บนกระจกครับ ซึ่งจะเป็นการฉีดน้ำยา Film-On แล้วใช้ยางรีดน้ำออกอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
ทำความสะอาดกระจกก่อนติดฟิล์มรถ
ช่างติดฟิล์มใช้เกียงเก็บรายละเอียดความสะอาดบนบานกระจก

5. การเป่าแป้งเตรียมพื้นผิว (เฉพาะกรณีฟิล์มดูดติดกับกระจกหน้ามากๆ)

สำหรับขั้นตอน การเป่าแป้ง!  ถือว่าเป็นเคล็ดไม่ลับ ที่ช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตระหว่างฟิล์มกับกระจกบานหน้าครับ โดยจะเป่าลงบนกระจกด้านนอก เพื่อที่เวลาวางฟิล์มทาบลงบนกระจกแล้ว ฟิล์มไม่ดูดติดกับกระจกหน้า และแป้งจะเป็นตัวช่วยให้การเลื่อนตำแหน่งของแผ่นฟิล์มบนกระจกได้สะดวกขึ้น 
แต่วิธีการนี้มีข้อเสียคือ เม็ดฝุ่นแป้งอาจปนเปื้อนขณะติดตั้งฟิล์มได้ ฉะนั้นปัจจุบันช่างติดฟิล์มส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้วิธีการเป่าแป้งกันสักเท่าไหร่ (ยกเว้นถ้ากระจกบานหน้าของรถรุ่นนั้นๆมีคุณสมบัติดูดฟิล์มมาก และเป็นกระจกแผ่นใหญ่มากๆที่ยากต่อการเลื่อนฟิล์ม ก็อาจยังจำเป็นต้องใช้วิธีนี้)
วิธีติดตั้งฟิล์มรถยนต์
ไม่ต้องห่วงครับ! ทีมช่างไม่ได้เป่าเพื่อขอเลขเด็ดแน่นอน

6. ตัดแบบฟิล์มให้เท่ากับบานกระจกจริง

เป็นการนำฟิล์มที่ตัดเตรียมไว้มาวางทาบบนกระจกจริง เมื่อจัดตำแหน่งฟิล์มจนเข้าที่แล้ว ช่างติดฟิล์มจะทำการตัดขอบให้ฟิล์มมีขนาดเท่ากับผืนกระจกรถจริง โดยวิธีในการตัดมีอยู่ 2 เทคนิคด้วยกัน คือ
  • ขึ้นแบบด้วยไลเนอร์ก่อนแล้วตัดฟิล์มจริง 
เทคนิคนี้เหมาะกับมือใหม่ เพราะก่อนตัดฟิล์มเราสามารถวาดแบบบนแผ่นไลเนอร์บนกระจกจริงได้ก่อน จากนั้นมาทาบตัดกับชิ้นฟิล์มกรองแสงที่เตรียมไว้ครับ
การตัดฟิล์มรถยนต์
ตัวอย่างการตัดฟิล์มจากแบบบนไลเนอร์
  • ตัดฟิล์มโดยทาบกับชิ้นกระจกจริงด้วยคัตเตอร์
เทคนิคนี้คือวิธีการตัดสำหรับช่างติดฟิล์มที่มีชั่วโมงบินสูงเท่านั้น เพราะสามารถตัดขอบได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำในการลงใบมีดเพียงครั้งเดียว ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้ฝีมือเฉพาะตัวของช่างค่อนข้างสูง เพราะหากกรีดฟิล์มพลาด ฟิล์มก็จะเสียทันที แล้วต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก
นอกจากนี้หากกรีดแรงเกินไป ใบมีดก็อาจขูดกับขอบยาง หรือเนื้อกระจกเป็นรอยได้ เพราะฉะนั้น หากฝีมือไม่ชำนาญจริงๆ (โดยเฉพาะนักเรียน YouTube มือใหม่) ไม่ควรเสี่ยงทำเป็นอย่างยิ่งครับ
ขั้นตอนการติดฟิล์มรถยนต์
นำฟิล์มที่เตรียมไว้ มาตัดให้มีขนาดเท่ากับกระจกบานจริง

7. เป่าฟิล์มด้วยเครื่องเป่าลมร้อน (เฉพาะบานหน้า - บานหลัง)

เนื่องจากเนื้อฟิล์มจะมีความหนาและแข็งประมาณหนึ่ง จึงไม่สามารถลอกกาวแล้วแปะติดลงกระจกลงไปได้ตรงๆ เหมือนการแปะสติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูนตกแต่งนะครับ (ฮ่าๆๆ) เพราะบานกระจกจากโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ มักจะมีความโค้งเว้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรถแต่ละรุ่น 
จึงเป็นที่มาของการใช้ตัวช่วยอย่าง ‘เครื่องเป่าลมร้อน’ หรือไดร์เป่าลมร้อน Hot Air Gun (คนละอย่างกับไดร์เป่าผมนะครับ) เครื่องนี้จะให้ลมร้อนที่คงที่ สม่ำเสมอ และช่วยทำให้เนื้อฟิล์มมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ช่างติดฟิล์มสามารถดัดเนื้อฟิล์มให้มีความโค้งรับกับผิวกระจกได้ดีขึ้นช่วยให้ติดฟิล์มได้ง่าย และไม่เด้งคืนตัวออกจากกระจกครับ
วิธีเป่าฟิล์มรถยนต์
ช่างติดฟิล์มกำลังเป่าฟิล์มรถ เพื่อให้ฟิล์มเซทตัว
รับกับความโค้งของกระจก โดยเฉพาะบานหน้า
เสริมเพิ่มเติมว่า หลังจากเป่าฟิล์มด้วยไอร้อนเสร็จแล้ว เนื้อฟิล์มอาจมีการขยายตัวเล็กน้อย จึงควรตัดขอบเก็บรายละเอียดด้วยคัตเตอร์อีกครั้ง ให้ฟิล์มกรองแสงมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดกระจกจริงมากที่สุดครับ

8. ม้วนเก็บฟิล์มออกจากกระจกด้านนอก เพื่อเตรียมติดตั้ง

เมื่อตัดชิ้นงาน (และเป่าฟิล์ม) เรียบร้อย ขั้นตอนนี้ง่ายนิดเดียว คือการม้วนฟิล์มออกมาเก็บไว้ก่อนเพื่อเตรียมสำหรับการติดตั้งในขั้นตอนถัดไป และแน่นอนว่าการม้วนฟิล์มเก็บให้กะทัดรัด จะช่วยรักษาชิ้นงานให้สวยงาม และปลอดภัยกว่าการแผ่กางฟิล์มทิ้งไว้บนโต๊ะ  และยังสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายฟิล์มนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ อีกด้วยครับ
ซื้อฟิล์มติดรถยนต์ มาติดเอง
วิธีม้วนฟิล์มเก็บ เพื่อความสะดวกในการใช้งานภายหลัง

9. ฉีดน้ำยา Film-On เตรียมสภาพผิวกระจกด้านใน

การติดตั้งฟิล์มกรองแสงรถยนต์ จะทำการติดฟิล์มบนกระจกด้านในเท่านั้นนะครับ (หลายๆ ท่านเข้าใจว่าติดด้านนอกกัน แต่ถ้าทำแบบนั้นฟิล์มกรองแสงจะเกิดรอยขีดข่วนจากไม้ปัดน้ำฝน หรือสะเก็ดหินที่กระเด็นมาได้ครับ)  โดยให้ฉีดน้ำยา Film-On (หรืออาจใช้น้ำผสมแชมพูอ่อน) ฉีดให้ทั่วบริเวณกระจกด้านใน เพื่อให้พื้นผิวกระจกเปียกชุ่ม ลื่น ลดแรงดูดระหว่างผิวกระจกกับฟิล์มกรองแสงก่อนติดตั้งครับ
แชมพูติดฟิล์มกระจกรถยนต์
ฉีดน้ำผสมแชมพู พ่นลงที่กระจกด้านในเพื่อเตรียมพื้นผิว

10. เริ่มติดตั้งฟิล์มบนกระจก

ขั้นตอนนี้ เป็นการเริ่มนำแผ่นฟิล์มที่ม้วนเก็บไว้ มาคลี่ออก เตรียมติดตั้งลงบนกระจกจริงครับ โดยขั้นตอนการติดฟิล์มจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ลอก > ฉีด > วาง ทำต่อเนื่องกันไป ดังรายละเอียดและภาพตัวอย่างด้านล่างครับ
  • ลอก แผ่นไลเนอร์ออกจากแผ่นฟิล์ม
ไลเนอร์ ฟิล์มติดรถยนต์
ไลเนอร์ (Liner) คือ ชั้นพลาสติกบาง
ทำหน้าที่ป้องกันชั้นกาวไม่ให้มีฝุ่นปนเปื้อน
  • ฉีด น้ำยำ Film-On ที่บริเวณด้านกาวของแผ่นฟิล์มและกระจกที่ติดตั้ง
ฉีดน้ำก่อนติดฟิล์ม
เตรียมฟิล์มก่อนติดลงบนกระจก
  • วาง ฟิล์มบนกระจกให้ได้ตำแหน่งเหมาะสม (เว้นจากขอบกระจกประมาณ 2 มิลลิเมตร)

วิธีติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์
เริ่มติดตั้งฟิล์มลงบนบานกระจก
ขั้นตอนนี้ อาจดูเหมือนง่ายแต่จริงๆ ไม่ง่ายครับ หลายๆ ครั้ง ช่างติดฟิล์มมักจะ วางฟิล์ม > ลอกออก > ฉีดน้ำ > วางฟิล์มใหม่ แบบนี้วนไปหลายครั้ง จนกว่าจะมั่นใจจริงๆ ว่า ทั้งแผ่นฟิล์มกรองแสง และผืนกระจกต้องไม่มีฝุ่น 100%3 เพื่อจะได้ไม่ต้องมาแก้ไขภายหลังจากที่กาวฟิล์มเซตตัวกับผิวกระจกไปแล้ว ซึ่งอาจหมายถึงต้อง “ลอกออกเสียฟิล์ม จนต้องตัดและติดฟิล์มใหม่ตั้งแต่ต้น” ครับ
วางฟิล์ม > ขยับฟิล์ม > ฉีดน้ำยา > วางใหม่
จนกว่าจะมั่นใจว่าฟิล์มได้ตำแหน่ง และไม่มีฝุ่นครับ

11. รีดน้ำออกจากแผ่นฟิล์ม

หลังจากวางฟิล์มได้ตำแหน่งแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนการรีดน้ำออกจากแผ่นฟิล์ม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนย่อยๆ เพื่อสามารถรีดน้ำได้อย่างสะอาดหมดจดที่สุด ดังนี้
  • รีดหนัก ด้วยยางรีดน้ำ 
การรีดน้ำในขั้นตอนนี้ จะใช้ยางรีดน้ำออกเพื่อให้รีดน้ำออกมาได้มากที่สุดในขั้นตอนนี้
รีดน้ำแบบหนักหลังติดฟิล์มรถ
ใช้ ‘ยางรีดน้ำ’ เพื่อรีดน้ำให้ออกเยอะมากที่สุดก่อน
  • รีดเบา ด้วยเกียงพลาสติก 
การรีดน้ำในขั้นตอนนี้จะเป็นการรีดน้ำทีเหลืออยู่ตามจุดต่างๆ บนกระจก เทคนิคเพิ่มเติมในขั้นตอนนี้ ช่างจะใช้กระดาษทิชชู่หุ้มที่ปลายเกียง หรืออาจใช้เศษแผ่นไลเนอร์ที่ลอกออกจากฟิล์ม มาวางซ้อนก่อนใช้เกียงรีดฟิล์ม เพื่อลดแรงเสียดสีกับเนื้อฟิล์ม ป้องกันไม่ให้ฟิล์มเป็นรอยขีดข่วนครับ
วิธีรีดน้ำแบบเบาด้วยเกียงพลาสติก
รีดน้ำที่อยู่ตามจุดต่าง ๆ อีกรอบด้วย ‘เกียงพลาสติก’

12. เช็ดด้วยผ้าสะอาด และเก็บรายละเอียดงาน

หลังรีดน้ำออกจากฟิล์มเสร็จ ช่างติดฟิล์มจะใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง เพื่อเก็บรายละเอียดงานที่ได้ติดตั้งไปว่าเรียบร้อยดีหรือไม่ แล้วตรวจเช็กตำแหน่งของฟิล์มเป็นขั้นสุดท้าย โดยเฉพาะการรีดฟองน้ำเล็ก ๆ ออกจากขอบฟิล์มด้วย ‘ไม้โปรแทรกเตอร์” บริเวณขอบกระจกและมุมต่าง ๆ เป็นต้นครับ
วิธีติดตั้งฟิล์มกรองแสงรถยนต์
เก็บรายละเอียดงาน
หากผืนฟิล์มไม่มีเม็ดฝุ่น แมลง เส้นผม รอยนิ้วมือ รอยขีดข่วน หรือรอยฉีกขาด ก็ถือว่างานติดตั้งนั้นเสร็จสมบรูณ์3 และนี่ก็เป็นวิธีติดฟิล์มกระจกรถยนต์ในแบบภาพรวมนะครับ
 
ยินดีด้วย! คุณจบหลักสูตร ‘ติดฟิล์มรถยนต์ 101’ แล้ว
ที่มา:
https://tenor.com/
แต่…ยังครับ ยังไม่จบเท่านี้ การติดตั้งฟิล์มกระจกรถทั้งหมด 12 ขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงขั้นตอนภาพรวมเท่านั้น หัวข้อถัดไปคือ ข้อควรระวังเฉพาะกระจกแต่ละบาน ซึ่งคลิปสอน Youtube ทั่วๆ ไปไม่เคยบอกคุณ บทความนี้ลามิน่าได้รวบรวม + กลั่นกรองมาจากประสบการณ์จริงของช่างติดฟิล์มมาเล่าให้ฟังแล้ว ติดตามกันต่อได้เลยครับ !
 
 


 

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานข้าง (ข้อควรระวัง)

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานข้าง
เริ่มจากกระจกที่ติดไม่ยากมากกันก่อน กับกระจกด้านข้างทั้ง 4 บาน (แถวหน้า 2 และแถวหลัง 2) ความแตกต่างของกระจกในตำแหน่งนี้คือ ตัวกระจกสามารถเลื่อนขึ้น-ลงได้ มาดูข้อควรระวังเพิ่มเติมในการติดฟิล์มรถยนต์บานข้างกัน
  • ห้ามเลื่อนกระจกขึ้นลงในช่วงแรกหลังการติดตั้ง เพราะอาจทำให้ฟิล์มเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ (คำถามที่พบได้บ่อย: ติดฟิล์มรถยนต์กี่วันเปิดกระจกได้?)
  • สำหรับรถที่ติดกันสาดกระจกบานข้าง แนะนำให้ถอดกันสาดออกก่อน หรือถ้าไม่อยากถอด ก็ให้วัดฟิล์มโดยใช้การวาดดราฟเส้นกระจกของจริงลงบนแผ่นไลเนอร์ แล้วค่อยเอามาตัดฟิล์มตามรอยนั้นด้านนอกเอาจะดีกว่าครับ เพราะถ้าตัดฟิล์มสดแบบทาบแผ่นฟิล์มบนขอบกระจกเลย จะวัดขนาดฟิล์มได้ยากมาก เนื่องจากติดกันสาด และอาจเสี่ยงฟิล์มหักอีกด้วย
  • ฝุ่นที่มาจากขอบสักหลาด สามารถฝังตัวอยู่ในเนื้อฟิล์มได้โดยไม่รู้ตัว (เกิดขึ้นได้ทั้งรถเก่าและรถใหม่) ต้องอาศัยประสบการณ์ในการตรวจสอบพิถีพิถัน (เนื่องจากมองเห็นได้ค่อนข้างยาก)
ขอบสักหลาดข้างประตูรถ
ขอบสักหลาดข้างประตูรถ
  • กระจกข้างคู่หน้า คู่หลัง สำหรับรถยนต์บางรุ่น จำเป็นต้องมีการเป่าฟิล์มเช่นกัน เหมือนกระจกบานหน้า ตัวอย่างเช่น Porsche911, Porsche 911 Targa, Tesla Motors ทุกรุ่น, Volkswagen Beatle เนื่องจากรถเหล่านี้ กระจกบานข้างจะมีความโค้งรับกับตัวโครงรถสูงมาก หากไม่ทำการเป่าฟิล์ม หลังติดตั้งฟิล์มอาจมีโอกาสคืนตัว เด้ง หรือหลุดลอกได้ครับ
เป่าฟิล์มกระจกรถ Ferrari Pista Spider
ช่างกำลังติดตั้งฟิล์มรถยนต์บนรถ Ferrari Pista Spider
 


 

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานหน้า (ข้อควรระวัง)

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานหน้า
กระจกบานหน้าเป็นหนึ่งในบานกระจกที่มีความโค้งและและมีขนาดใหญ่ที่สุด (รองลงมาจากซันรูฟของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน) จึงต้องมีการดัดฟิล์มกรองแสงให้โค้งเข้ารูปกับกระจกแบบชิ้นเดียวไร้รอยต่อ  อีกทั้งยัง เป็นบานกระจกที่มี “จุดไข่ปลา” รอบบาน และยังเป็นตำแหน่งที่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ติดกล้องหน้ารถ กล้อง ADAS หรือกล่อง Easy Pass อีกด้วย จึงมีข้อควรระวังต่างๆ ดังนี้
  • ในขั้นตอนการตัดขอบฟิล์มสำหรับกระจกบานนี้ นอกจากความโค้งของผิวกระจกแล้ว อีกจุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ “บริเวณจุดยึดกระจกมองหลัง” ซึ่งรถแต่ละรุ่น มีการดีไซน์พื้นที่สำหรับยึดกระจกมองหลังแตกต่างกัน แบ่งออกได้เป็น 3 กรณี คือ
    • กรณีกระจกมองหลัง สามารถถอดออกได้ : ช่างสามารถใช้วิธีการทาบฟิล์ม แล้ว ‘ตัดให้เป็นช่อง’ เว้นที่ว่างไว้สำหรับติดตั้งกระจกมองหลังกลับไปที่ตำแหน่งเดิมหลังติดตั้งฟิล์มเสร็จ
    • กรณีกระจกมองหลัง ไม่สามารถถอดออกได้ : ต้องใช้เทคนิคการ (กรีด) ผ่าฟิล์มเพื่อให้สามารถติดตั้งแผ่นฟิล์มกรองแสงบริเวณดังกล่าวได้
    • กรณีกระจกมองหลัง ไม่ได้ติดกับกระจกหน้ารถ : แบบนี้ง่ายที่สุด สามารถทาบตัดฟิล์มตามรูปทรงกระจกบานหน้าเต็มบานตามปกติได้เลย
  • ในขั้นตอนเป่าฟิล์มด้วยไอร้อน ควรระวังในเรื่องของ อุณหภูมิและระยะเวลา ในการเป่า ซึ่งต้องอยู่ในปริมาณพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะฟิล์มแต่ละชนิด แต่ละรุ่น ทนความร้อนได้ไม่เท่ากัน หากอุณหภูมิต่ำเกินไป เมื่อติดฟิล์มบนกระจกบานหน้าแล้ว อาจะเกิดอาการ ฟิล์มเด้งคืนตัวได้ หรือถ้า หากใช้อุณหภูมิสูงเกินไป ก็อาจทำให้ ฟิล์มแตกหรือฟิล์มไหม้ ได้เลยเช่นกัน จึงต้องเปลี่ยนแผ่นฟิล์มใหม่สถานเดียวเลยล่ะครับ
 
ฟิล์มรถยนต์ เป็นเส้น
อาการฟิล์มรถยนต์ เป็นเส้นหรือฟิล์มแตก
  • รถบางรุ่นมีเส้นไล่ฝ้าที่บริเวณกระจกด้านหน้า จึงมีข้อควรระวัง เหมือนการติดฟิล์มกระจกบานหลัง
  • หลังติดตั้งฟิล์มรถยนต์กระจกบานหน้า อย่าเพิ่งติดตั้งกล่อง Easy Pass หรือจุ๊บสุญญากาศสำหรับติดกล้องหน้ารถทันที เพราะอาจถ่วงน้ำหนักจนทำให้ฟิล์มลอกหลุดได้ ลามิน่าขอแนะนำให้คุณติดอุปกรณ์ดังกล่าวบนกระจก หลังติดตั้งฟิล์มรถยนต์เสร็จอย่างน้อย 7 วันครับ เพื่อให้ฟิล์มเซ็ทตัวยึดติดกับผิวกระจกได้เต็มที่แล้วก่อนครับ
 


 

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานหลัง (ข้อควรระวัง)

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานหลัง
สำหรับกระจกบานหลังนั้น เห็นจากภาพด้านบนก็คงพอทราบแล้วครับว่า “แค่การวางท่าทางในการติดฟิล์มก็ค่อนข้างลำบากแล้ว” และจุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษเลยก็คือ “เส้นไล่ฝ้า” ครับ จึงเป็นเหตุที่ทำให้กระจกบานนี้เป็นกระจกบานเดียวที่ต้องมีขั้นตอนพิเศษอย่างการ “การหมักกาว” ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังอื่นๆ อีกมากมาย ดังนี้
  • ทุกครั้งที่มีการลอกฟิล์มเก่าออกจากกระจกบานหลัง มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ เส้นไล่ฝ้าขาด เนื่องจากเส้นไล่ฝ้าเป็นเพียงเส้นลวดบาง ๆ ติดอยู่บนผิวของกระจก (โดยเฉพาะรถยุโรปที่เส้นไล่ฝ้าจะบอบบางกว่ารถญี่ปุ่น)
    ในระหว่างขั้นตอนการขัดคราบกาวออก แม้จะใช้แผ่นไนล่อนขาวบาง ก็ยังเป็นไปได้ที่อาจจะขูดเส้นไล่ฝ้าจนขาดอยู่ดี ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ติดตั้ง ต้องฝึกเรียนรู้การลงน้ำหนักมือในการขัดคราบกาวแต่พอเหมาะ ไม่เบาเกินไปจนคราบกาวเหลือ และไม่หนักเกินไปจนไล่ฝ้าเสียหาย  ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหานี้ได้พอสมควรครับ
  • สำหรับรถที่มีพื้นที่ภายในห้องโดยสารแคบ มีพื้นที่ Headroom น้อย หรือกระจกมีความลาดเอียงมาก (อย่างเช่น รถสปอร์ตสองที่นั่ง) จะยิ่งทำให้ติดตั้งฟิล์มกระจกบานหลังได้ยากมากยิ่งขึ้น การจับประคองฟิล์มที่ขาดทักษะความชำนาญอาจทำให้ฟิล์มหักได้ จากภาพด้านบนจะเห็นว่าช่างต้อง “แทรกมุดตัว” เพื่อเข้าไปติดฟิล์มกันเลยทีเดียวครับ
 


 

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานตาย

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ บานตาย
สำหรับบานหูช้าง เป็นตำแหน่งที่ช่างติดฟิล์มส่วนใหญ่เห็นตรงกันครับว่าเป็น บานกระจกที่ติดตั้งฟิล์มง่ายที่สุด เพราะเป็นกระจกติดยึดกับตัวถังถาวร ไม่สามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ (เป็นที่มาของชื่อ “กระจกบานตาย” นั่นเอง) อีกทั้งยังมีพื้นที่ขนาดเล็ก และไม่มีเส้นไล่ฝ้าหรือจุดไข่ปลาอีกด้วย ถือว่าเป็น บานกระจกสำหรับช่างติดฟิล์มฝึกหัดหน้าใหม่ ก็ว่าได้ 
 


 

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ซันรูฟ (Sunroof) (ข้อควรระวัง)

วิธีติดฟิล์มรถยนต์ซันรูฟ
  • ในการติดตั้งฟิล์มบนกระจกซันรูฟ ถือเป็นตำแหน่งปราบเซียน และท้าทายสูงมากๆ เพราะเกิดจากท่าทางในการติดตั้งเป็นตำแหน่งที่ช่างต้องยกฟิล์มขึ้นไปติด สวนกับแรงโน้มถ่วง หากประคองฟิล์มไม่ดี ฟิล์มก็มีสิทธิ์หักลงมาได้เช่นกัน
  • รถยนต์รุ่นใหม่ๆโดยเฉพาะรถไฟฟ้า มักถูกดีไซน์หลังคาเป็น Panoramic Sunroof บานใหญ่โต ดูสวยหรู สง่างาม (เช่น Tesla ทุกรุ่นทั้ง Model S, Model 3, Model X, Model Y, MG ZS, BYD และรถค่าย GWM เป็นต้น) ซึ่งขนาดของบานกระจกที่ใหญ่มากขึ้น ก็เพิ่มความท้าทายให้กับช่างติดฟิล์มเช่นกัน ดังนั้น แม้แต่ช่างระดับมืออาชีพ ก็ยังต้องใช้ 2 คนในการช่วยกันติดตั้ง
 

ติดฟิล์มรถยนต์ ใช้เวลากี่ชั่วโมง? นานไหม?

สำหรับรถใหม่ (ป้ายแดง) ที่ไม่เคยมีการติดฟิล์มมาก่อน จะใช้เวลาประมาณ 1 - 1.5 ชั่วโมง ส่วนรถยนต์ที่มีฟิล์มเก่าติดตั้งมาอยู่แล้ว และต้องเพิ่มเติมขั้นตอนการ “หมักกาว - เคลียร์กาว” เข้าไป จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง4 ครับ
 
 


 

การตรวจสอบคุณภาพหลังติดฟิล์มรถด้วยตัวเอง

การตรวจสอบคุณภาพหลังติดฟิล์มรถด้วยตัวเอง

หลังจากที่ได้รู้วิธีการติดตั้งฟิล์มแล้ว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การติดฟิล์มที่เรียบร้อยสวยงามทนทาน 100% อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพหลังการติดตั้ง และดูแลรักษากระจกรถยนต์หลังการติดฟิล์ม5 อย่างถูกวิธี ดังนี้ครับ
  • ช่วง 1-4 สัปดาห์ จะเป็นระยะที่ฟิล์มยังไม่แห้งสนิท ซึ่งอาจเกิดคราบน้ำขัง, ฟองอากาศ, ฝ้า, คราบมัว ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใดครับ เพราะคราบดังกล่าวจะหายไปเอง แค่หมั่นนำรถไปตากแดดบ่อยๆก็พอครับ
  • หลังติดตั้งฟิล์มเสร็จใหม่ๆ ควรสังเกตุ ผืนกระจกทั้งหมดในระยะสายตาขณะขับขี่จะต้องไม่มีริ้วคลื่น, เม็ดฝุ่น, รอยหัก, คราบแมลง, ใยไฟเบอร์, รอยนิ้วมือ, รอยฉีกขาด, รอยขีดข่วน หรือขอบฟิล์มลอกล่อน (หากเห็นตำหนิใดๆที่รบกวนสายตา ควรรีบแก้ไข หรือติดตั้งฟิล์มใหม่ทันที)

 


 

ซื้อฟิล์มติดรถยนต์มาติดเอง ดีไหม?

ซื้อฟิล์มติดรถยนต์มาติดเอง ดีไหม?

ผลลัพธ์หลังติดฟิล์มรถยนต์ด้วยตัวเอง
หนึ่งในผลลัพธ์แสนปวดใจจากการ
“ซื้อฟิล์มรถยนต์มาติดเอง”
ถ้าถามว่า “ซื้อฟิล์มติดรถยนต์มาติดเอง ได้ไหม?” คำตอบคือ “ได้” … แต่คำถามที่ลามิน่าอยากให้ทุกท่านถามต่อก็คือ “ติดมาแล้ว … ผลลัพธ์จะดีไหม?” ในฐานะที่ Lamina ดำเนินธุรกิจอยู่ในวงการฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์มานานเกือบ 30 ปี ต้องบอกตามตรงว่า มีเคสจำนวนไม่น้อยเลยที่ลูกค้าติดฟิล์มเองแล้วต้องเอารถมาให้ช่างแก้ใหม่ให้เสียทั้งอารมณ์ เสียทั้งเงิน และเสียทั้งใจ ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงเจ็บใจ ให้ช่างมืออาชีพเค้าติดให้สบายใจกว่าเยอะ ถ้าไม่เชื่อลองมาฟังเคสจริงจากลูกค้าที่ซื้อฟิล์มมาติดเองกันดู

แชร์ประสบการณ์จริง! ซื้อฟิล์มมาติดเองจาก ‘นักเรียน YouTube’ 
ซื้อฟิล์มติดรถยนต์มาติดเอง ดีไหม?
เรื่องมีอยู่ว่า นักเรียน YouTube คนหนึ่งได้ซื้อฟิล์มติดรถยนต์มาติดเอง โดยเลือกช้อปปิ้งออนไลน์จากแอปฯ Marketplace เจ้าดังด้วยโปรโมชั่นแสนถูก เพียง 400 บาทเท่านั้นก็ได้มาครบ ทั้งฟิล์มดำมาติดกระจก 5 บาน ไม่ว่าจะเป็น กระจกบานหน้า, บานข้างคู่หน้า และบานข้างคู่หลัง อุปกรณ์ในแพ็กเกจยังมีเกรียงรีดน้ำและคัตเตอร์แถมมาให้ด้วย (คุ้มค่าเกินห้ามใจที่จะไม่กด CF)
วิธีติดฟิล์มรถยนต์ ด้วยตัวเอง
ภาพหลักฐานการซื้ออุปกรณ์ติดฟิล์มจริง
จากแอพพลิเคชันชื่อดัง
หลังจากที่คุณลูกค้าได้ฟิล์มมาถึงมือ พร้อมศึกษาความรู้จาก YouTube มาเป็นอย่างดี เขาจึงรีบจัดการลงมือติดฟิล์มกระจกรถกันสองคนกับภรรยา การติดฟิล์มที่กระจกบานข้างก็เหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี และสำหรับกระจกบานหน้า ก็ได้มีการ ใช้ “ไดร์เป่าผม” มาเป่าให้ฟิล์มเข้ารูป ทดแทนไดร์เป่าลมร้อนที่ออกแบบมาสำหรับการติดตั้งฟิล์มโดยเฉพาะ สำหรับผลลัพธ์ที่ได้นั้น ถ้าให้เล่าในภาษาแบบฉบับ “ลูกศิษย์หลวงปู่เค็ม” ก็คงกล่าวได้ว่า 
“วันแรกฟิล์มไม่เป็นไร…
วันถัดไปพองกระจุย”
กล่าวคือ คุณภาพฟิล์มไม่แน่ใจ  แต่ช่วยกันแดดให้ได้ไม่แสบผิว แต่ อุณหภูมิในรถก็ยังร้อนระอุ6 ยิ่งไปกว่านั้น ฟิล์มที่ติดตั้งบริเวณกระจกบานหน้า แค่วันเดียวก็เด้งคืนตัว แถมลอกออกจากกระจกเป็นรอยยับเต็มบาน บังวิสัยทัศน์ในการขับขี่อย่างน่าสะเทือนใจ ยิ่งมอง ยิ่งเครียด ยิ่งปวดตา ขับไปไหนต่อไหน เพื่อนขึ้นรถมาก็คอยทักว่า “รถเป็นอะไรอะ?”
ท้ายสุด เจ้าของเรื่องราวเหตุการณ์จริงเรื่องนี้ ก็ได้ฝากกับลามิน่าว่า “หากย้อนเวลากลับไปได้ใหม่ แม้จะมีอุปกรณ์พร้อมแค่ไหน ถึงฟิล์มจะถูกยังไง ก็คงไม่ขอซื้อฟิล์มรถยนต์มาติดเองอีกแล้ว… เข็ดมาก เพราะว่า “มีของ มีความรู้ แต่ไร้ความชำนาญ ติดยังไงก็พัง เสียเงิน เสียเวลา เหนื่อยสุดๆ”
และต้องยอมรับว่าโชคดีที่ลูกค้ารายนี้ มีเงินสำหรับการลอกฟิล์มเก่าและติดฟิล์มรอบที่สอง และลามิน่าเองก็ไม่รู้ว่ายังมีอีกกี่เคสที่ต้องทนกับผลลัพธ์การติดฟิล์มเสียด้วยตัวเองแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่อยากจ่ายเงินไปมากกว่านี้
7 ปัญหาติดฟิล์มเองแล้วเคลมไม่ได้
อาจต้องเสียเงินติดใหม่ แถมรถช้ำกว่าเดิม
ปัญหา ผลเสียที่ตามมา
กรีดฟิล์มพลาด
โดนตัวรถ, สีรถ, ซีลขอบกระจก
ต้องซ่อมสี / หาอะไหล่มาติดตั้งใหม่ 
(หากเป็นรถสะสม อู่ทำสีที่ดี และอะไหล่ยิ่งหาได้ยาก)
ตัดแบบฟิล์มพลาดจนฟิล์มเสีย สิ้นเปลืองเงิน ซื้อฟิล์มรถยนต์ใหม่
ติดฟิล์มรถผิดฝั่ง
ติดตั้งด้านนอกรถไม่ใช่ด้านในห้องโดยสาร
ฟิล์มเป็นรอยจากไม้ปัดน้ำฝน สะเก็ดหิน
เกิดความเสียหาย จนต้องติดฟิล์มใหม่
ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ติดฟิล์มจำนวนมาก
(มากแค่ไหน อ่านจากด้านบนได้เลยครับ)
เสียเงินลงทุนโดยใช่เหตุ ติดตั้งครั้งเดียว
แล้วอาจไม่ได้ใช้อุปกรณ์อีก
เป่าฟิล์มด้วยเครื่องเป่าลมร้อน
ด้วยอุณหภูมิ/ระยะเวลาไม่เหมาะสม
มีโอกาสฟิล์มไหม้ เป็นหมอก ฝ้า และกระจกแตกเป็นรอยร้าว
มูลค่าความเสียหายอาจสูงกว่าตัวฟิล์มกรองแสงเอง
ไม่มีเครื่องเป่าลมร้อน สำหรับใช้ในการติดฟิล์มโดยเฉพาะ ฟิล์มลอกล่อน หลุดจากกระจก จนต้องลอกแล้วติดตั้งใหม่
ติดตั้งฟิล์มไม่ได้มาตรฐาน 
มีเม็ดฝุ่น หรือฟองอากาศในเนื้อฟิล์ม
รบกวนทัศนวิสัยการมอง ขับขี่ไม่มีความปลอดภัย

ถ้าไม่อยากพลาดจนเสียน้ำตา ให้ผู้เชี่ยวชาญติดให้ดีกว่าครับ ชัวร์กว่ากันเยอะ
 
 



 

เรียกช่างมาติดฟิล์มรถยนต์นอกสถานที่ ดีไหม?

เรียกช่างมาติดฟิล์มรถยนต์นอกสถานที่ ดีไหม?

หลังจากที่ได้อ่านเนื้อหาเกี่ยวกับการติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์บนกระจกบานต่างๆ ด้วยตัวเองแบบจัดเต็มกันไปพอสมควรแล้ว บางท่านอาจอยากพับ Project การซื้อฟิล์มติดรถยนต์มาติดเอง และอาจหันมาใช้บริการช่างติดฟิล์มรถนอกสถานที่มาติดฟิล์มถึงบ้านเป็นตัวเลือกถัดมาใช่ไหมล่ะครับ แต่ช้าก่อน! คุณอาจเสียสิทธิประโยชน์ด้าน บริการหลังการขาย ! ได้ครับ
เพราะถึงแม้ช่างติดฟิล์มจะมีประสบการณ์ ทำให้ได้งานติดตั้งฟิล์มในระดับน่าพึงพอใจ แต่การติดฟิล์มภายใต้สถานที่ๆ ไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหา เช่นติดริมถนน หรือติดที่ลานจอดรถที่บ้าน หรือที่ทำงาน ที่เป็นสถานที่เปิด ซึ่งมักมีเม็ดฝุ่น เกสรดอกไม้ มากมายปลิวในอากาศ (โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในบ้านเรา) 
ซึ่งอาจเล็ดลอดเข้าไปฝังในเนื้อฟิล์ม รวมถึงกรณีฟิล์มเสียหายระหว่างติดตั้ง  ซึ่งล้วนส่งผลให้ฟิล์มมีจุดบกพร่อง ด้อยประสิทธิภาพลง และเมื่อใช้งานไปในระยะยาว ก็อาจเสียหายขยายเป็นวงกว้างจนฟิล์มเสียทั้งบานได้
ติดฟิล์มรถยนต์นอกสถานที่
ฝากไว้.. ด้วยความห่วงใยจากฟิล์มกรองแสงลามิน่า
และที่สำคัญ การเรียกช่างไปติดฟิล์มนอกสถานที่ ท่านจะไม่ได้รับใบลงทะเบียนรับประกันคุณภาพแต่อย่างใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่อยู่ในการรับประกันคุณภาพสินค้า 7 ปีจากลามิน่า ฉะนั้น เราขอแนะนำให้นำรถยนต์สุดรักของท่านเข้าติดตั้งฟิล์มกับร้านติดฟิล์มรถยนต์ หรือศูนย์ตัวแทนจำหน่ายฟิล์มลามิน่าอย่างเป็นทางการจะดีที่สุดครับเพราะ…
“ของถูกไม่ใช่ของดี
ราคาชี้วัดคุณภาพสินค้า และบริการได้…ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ”
สัมผัสประสบการ์ณติดตั้งฟิล์มเหนือระดับ
ได้ที่ Lamina Films Exclusive Shop ครับ
 
 


 

สรุป

การศึกษาวิธีติดฟิล์มรถยนต์จากโลกออนไลน์ แล้วไปทดลองปฏิบัติเองโดยไม่มีประสบการณ์ อาจทำให้คุณเสียแรง เสียเวลา และสร้างความเสียหายแก่ตัวรถได้ (เช่นขอบซีลยางฉีกจากการกรีดฟิล์มพลาด กระจกแตกจากการเป่าลมร้อนบนกระจกที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น) และถึงแม้ท่านจะเรียกช่างติดฟิล์มกรองแสงมาติดนอกสถานที่ให้ถึงบ้าน ฟิล์มรถยนต์นั้นจะไม่เข้าข่ายการรับประกันจากบริษัทฟิล์มฯ แต่อย่างใด ดังนั้นการติดฟิล์มกระจกรถยนต์ที่ศูนย์ติดตั้งฟิล์มมาตรฐานลามิน่า จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ


 
1. ไลเนอร์ คือ ชั้นพลาสติกใสเคลือบชั้นกาวซึ่งจะติดมาพร้อมกับฟิล์มกรองแสงทุกรุ่น และช่างติดฟิล์มต้องลอกออกก่อนทุกครั้งที่จะนำฟิล์มมาติดกระจกรถยนต์

2. สำหรับช่างที่มีประสบการณ์สูง ก็อาจจะลดเวลาการหมักกาวลงเหลือเพียง 30 - 90 นาที เพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้ลูกค้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั่นเองครับ

3. ยกเว้นรถที่มีอายุการใช้งานนานหลายปี อาจมีฝุ่นจากขอบสักหลาดติดอยู่ในเนื้อฟิล์มอยู่บ้างในระยะจากขอบฟิล์ม 5 เซนติเมตร เนื่องจากรถที่มีอายุการใช้งานนาน จะมีฝุ่นปนเปื้อนจากเศษสักหลาดขอบกระจกระหว่างติดตั้งได้ง่าย

4. เวลาทั้งหมดนี้เป็นเวลาประมาณการณ์สำหรับการติดฟิล์มให้รถซิตี้คาร์ 1 คัน โดยใช้ช่างที่มีประสบการณ์ 2 คนพร้อมอุปกรณ์ติดฟิล์มตามมาตรฐานนะครับ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นช่างจากทีมลามิน่า เราปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากลแน่นอน

5. วิธีดูแลรักษากระจกรถยนต์ หลังการติดฟิล์ม ห้ามทำความสะอาด เช็ด ถู กระจกรถยนต์จากภายในตัวรถ ในระยะแรกหลังการติดตั้งฟิล์ม ห้ามไขกระจกขึ้น-ลงในช่วงแรกหลังการติดตั้ง ห้ามเช็ดถูด้วยน้ำยาล้างกระจกที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย เพราะจะทำให้กาวของฟิล์มเสื่อมสภาพได้ห้ามถูกระจกที่ติดฟิล์ม ด้วยผ้าเย็น, ขนแปรง, สก๊อตไบร์ท หรือวัสดุอื่น ๆ ที่อาจเกิดความเสียหายแก่ฟิล์มได้ (แนะนำ ใช้แค่ผ้าสะอาดและน้ำสะอาด และใช้ผ้านิ่ม ๆ เช็ดให้แห้งอีกที เท่านี้ก็พอ)

6. เพราะฟิล์มคุณภาพต่ำอาจป้องกันแค่รังสี UV ประมาณ 70% แต่ไม่ได้ป้องกันรังสีความร้อนรวม (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์)


สอบถามข้อมูล “วิธีติดฟิล์มรถยนต์” เพิ่มเติมได้ที่
โทร. 02-422-2345
Facebook: m.me/LaminafilmsHQ
@LINE: https://lin.ee/ot1aDYm